brand_coke_pepsi

วันนี้ เราจะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับทรัพย์สินทางปัญญา ที่มีความสำคัญอย่างมากต่อการทำธุรกิจ นั่นก็คือ เครื่องหมายการค้า หรือที่ทุกคนคุ้นเคยกันในชื่อ โลโก้แบรนด์ นั่นเอง

เครื่องหมายการค้า มีความสำคัญกับแบรนด์อย่างมาก ทั้งในแง่ของการสร้างการรับรู้และจดจำ ให้แก่ผู้บริโภค รวมถึงช่วยให้ผู้บริโภคสามารถจำแนกความแตกต่างของสินค้าหรือบริการได้

การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่สำคัญ ที่คอยช่วยปกป้องโลโก้ หรือเสียงเรียกขานแบรนด์ของเรา จากการถูกลอกเลียน หรือละเมิด แต่ในทางกลับกัน เครื่องหมายการค้าที่ไม่ได้ทำการจดทะเบียนไว้ อาจต้องเจอกับความยากลำบากที่สูงกว่า ในการปกป้องโลโก้ หรือสัญลักษณ์จากการถูกละเมิด

สารบัญ

เครื่องหมายการค้า คือ อะไร?

สถิติเครื่องหมายการค้า

เครื่องหมายการค้า คือ เครื่องหมาย ตราสัญลักษณ์ รูป โลโก้ หรือเสียงเรียก ที่เราใช้กับสินค้า หรือบริการ เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคสามารถจำแนกความแตกต่าง ของสินค้า หรือบริการได้

อธิบายให้ง่ายขึ้นก็คือ เครื่องหมายการค้า มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครอง อัตลักษณ์ (Identity) ของแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็นโลโก้ สี เสียง กลิ่น หรือรูปลักษณ์ที่เห็นภายนอก ของสินค้า บริการ หรือแม้แต่การตกแต่งร้านค้า

ดังนั้น คำถามสำคัญสำหรับเครื่องหมายการค้า คือ “อัตลักษณ์ของแบรนด์” ของเรานั้น แตกต่างอย่างชัดเจน กับผู้อื่นในอุตสาหกรรมหรือเปล่า ความแตกต่างที่เพียงพอนั่นเอง ในทางกฎหมาย เราเรียกว่า มีความบ่งเฉพาะ (Distinctiveness) ซึ่งทำให้ เครื่องหมายดังกล่าวสามารถเป็นเครื่องหมายการค้าได้

ประเภทเครื่องหมายการค้า ที่ควรรู้จัก

เครื่องหมายการค้า สามารถแบ่งออกเป็นหลายประเภท ตามรูปแบบ หรือลักษณะการใช้งาน โดยเครื่องหมายการค้าที่สำคัญ ได้แก่

เครื่องหมายการค้า

1. เครื่องหมายการค้า (Trade mark)

คือ เครื่องหมายที่ใช้บนสินค้า เช่น ไนกี้ ใช้กับสินค้าประเภทรองเท้า เสื้อผ้า, ชาแนล ใช้กับสินค้าประเภทกระเป๋า เป็นต้น

เครื่องหมายบริการ

2. เครื่องหมายบริการ (Service mark)

คือ เครื่องหมายที่ใช้ในธุรกิจบริการ เช่น 7-11 ใช้กับบริการร้านสะดวกซื้อ, MK ใช้กับบริการร้านอาหาร เป็นต้น

เครื่องหมายรับรอง

3. เครื่องหมายรับรอง (Certification mark)

คือ เครื่องหมายที่ใช้ในการรับรองผู้อื่น โดยจะต้องกำหนดมาตรฐานที่ใช้เป็นเกณฑ์ในการรับรอง เช่น เครื่องหมาย ISO, เครื่องหมายฮาลาล, เครื่องหมายประหยัดไฟ เบอร์ 5 เป็นต้น

เครื่องหมายร่วม

4. เครื่องหมายร่วม (Collective mark)

 

คือ เครื่องหมายที่ใช้ร่วมกันในกลุ่มธุรกิจ เช่น SCG, PTT เป็นต้น

เครื่องหมายการค้า ลักษณะอื่นๆ

นอกจากเครื่องหมายการค้าทั้ง 4 ประเภทข้างต้นแล้ว ทุกท่านอาจจะมีโอกาสได้พบกับเครื่องหมายการค้าอื่นๆ ที่มีลักษณะเป็นเครื่องหมายการค้าเช่นเดียวกัน ได้แก่

1. เครื่องหมายเสียง (Sound mark)

เครื่องหมายเสียง คือ ลักษณะของเสียงที่มีความเฉพาะตัว ที่เมื่อได้ยินแล้ว สามารถจดจำหรือเชื่อมโยงไปถึงสินค้าหรือบริการได้ทันที ยกตัวอย่างเช่น เสียงของไอศกรีม Wall, เสียงโฆษณาผ้าอ้อมเด็ก มามี่โปะโกะ เป็นต้น

ซึ่งประเทศไทยในขณะนี้ เราสามารถจดทะเบียนเครื่องหมายเสียงได้แล้ว

2. เครื่องหมายกลิ่น (Smell mark)

เครื่องหมายกลิ่น มีวัตถุประสงค์เช่นเดียวกับเครื่องหมายการค้าอื่นๆ คือการให้ความคุ้มครอง กลิ่น ที่มีลักษณะเฉพาะ ที่เมื่อรับรู้แล้วสามารถเชื่อมโยงไปยังแบรนด์ สินค้าหรือบริการได้ เช่น กลิ่นของน้ำหอมแบรนด์ดังต่างๆ

สำหรับการจดทะเบียนเครื่องหมายกลิ่น หลายคนอาจจะสงสัยว่า เค้ารับจดทะเบียนกันอย่างไร ซึ่งในการยื่นจดทะเบียนนั้น ผู้ยื่นคำขอต้องทำการบรรยายถึงลักษณะของกลิ่นเข้าไปนั่นเอง แต่อย่างไรก็ดีประเทศไทยยังไม่สามารถจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าลักษณะนี้ได้ในตอนนี้

3. เครื่องหมายรูปลักษณ์ (Trade dress)

เครื่องหมายรูปลักษณ์ หลายท่านอาจจะไม่คุ้นเคย แต่ความจริงแล้ว เครื่องหมายลักษณะนี้ ให้ความคุ้มครองสิ่งสร้างสรรค์ที่มีความสำคัญมากๆ คือ รูปลักษณ์ภายนอกของแบรนด์ สินค้า หรือบริการนั่นเอง ยกตัวอย่างเช่น การตกแต่งร้าน, รูปลักษณ์ของสินค้า, บรรจุภัณฑ์ เป็นต้น

หลายคนอาจจะเคยได้ยินกรณีเรื่อง การขโมยไอเดียการตกแต่งร้าน ไม่ว่าจะเป็น ร้านราเมงข้อสอบ, ร้านชานมไข่มุก เสือพ่นไฟ หรืออื่นๆ ซึ่งกรณีการตกแต่งร้านลักษณะนี้ สามารถคุ้มครองได้ภายใต้เครื่องหมายการค้ารูปลักษณ์

แต่อย่างไรก็ดี เครื่องหมาย ประเทศไทยในขณะนี้ ยังไม่สามารถจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในลักษณะดังกล่าวได้

apple-store

หลักเกณฑ์การจดเครื่องหมายการค้า

การจดทะเบียนโลโก้ หรือเครื่องหมายการค้าหนึ่งๆนั้น ไม่ใช่ว่าทุกโลโก้ สัญลักษณ์ หรือเสียงเรียกขานทุกอย่าง สามารถจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าได้

การจดทะเบียนมีหลักการ พื้นฐาน 3 ข้อ ซึ่งผมจะยกมาอธิบายโดยคร่าวๆ ได้ดังนี้

1. มีความบ่งเฉพาะ (Distinctiveness)

เริ่มกันที่เรื่องความบ่งเฉพาะ ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์สำคัญ ที่หลายคนมักจะไม่เข้าใจ และไม่ผ่านในข้อนี้ อธิบายง่ายๆสำหรับการมีลักษณะบ่งเฉพาะ คือ ต้องเป็นลักษณะที่ไม่ทำให้ผู้บริโภคสับสน หลงผิด หรือ เครื่องหมายการค้านั้นต้องช่วยให้ลูกค้า สามารถแยกความแตกต่างของสินค้าหรือบริการได้ ว่ามีคุณสมบัติอย่างไร มีคุณภาพ หรือมีเจ้าของเป็นใคร เป็นต้น

ยกตัวอย่างเครื่องหมายการค้า ที่ไม่มีความบ่งเฉพาะ คร่าวๆ ได้ดังนี้

1.1 เสียงเรียกขานหรือรูปสัญลักษณ์ ที่สื่อถึงสินค้าหรือบริการ โดยตรง

1.2 เสียงเรียกขานหรือรูปสัญลักษณ์ ที่ตีความได้ถึงการโอ้อวดสรรพคุณ คุณภาพของสินค้า

1.3 เสียงเรียกขานหรือรูปลักษณ์ ที่มีลักษณะเป็นคำสามัญทั่วไป

ความบ่งเฉพาะ

2. ไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายที่จดทะเบียนไว้ก่อนหน้า (Similarity)

สิ่งสำคัญประการถัดมา คือ เครื่องหมายการค้า หรือ โลโก้ ที่เราต้องการจดทะเบียนนั้น ต้องไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าที่ทำการจดทะเบียนไว้แล้วก่อนหน้า

ซึ่งเราจะทราบได้อย่างไรว่า เครื่องหมายการค้านี้ มีผู้จดทะเบียนไว้แล้วหรือยัง .. คือตอบคือ ต้องทำการสืบค้นเครื่องหมายการค้า (อ่านเพิ่มเติม : การสืบค้นเครื่องหมายการค้า)

ในการพิจารณาความเหมือนคล้ายของเครื่องหมายการค้านั้น นอกจากพิจารณาลักษณะของเครื่องหมายการค้าที่เหมือนกันแล้ว ยังต้องพิจารณาลักษณะของเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกันด้วย โดยการพิจารณานั้น จะพิจารณาเฉพาะกรณีเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนไว้แล้วเท่านั้น ไม่พิจารณาเครื่องหมายการค้าที่โดนเพิกถอน หรือไม่ได้รับจดทะเบียน

เครื่องหมายเหมือนคล้าย

3. ต้องไม่มีลักษณะที่ต้องห้าม

ประการถัดมา คือ ลักษณะโลโก้นั้น ต้องไม่ขัดต่อสิ่งที่กฎหมายห้ามเอาไว้ โดยสิ่งที่กฎหมายห้ามไว้นั้น ในแต่ละประเทศอาจมีลักษณะแตกต่างกัน โดยในประเทศไทย เครื่องหมายการค้าต้องห้าม ยกตัวอย่างเช่น

3.1 ไม่เป็นชื่อทางภูมิศาสตร์ เช่น ชื่อประเทศ ตำบล อำเภอ ภูเขา ทะเล เป็นต้น

3.2 ไม่สื่อไปในทางลามก อนาจาร หรือขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน

3.3 ไม่เป็นรูปธงชาติ หรือสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์

3.4 ไม่เป็นรูปช้าง เรือนไทย หรือดอกราชพฤกษ์ตามที่กำหนด

เครื่องหมายต้องห้าม

ใครบ้าง? ที่ควรจดเครื่องหมายการค้า

แน่นอนว่า คนที่ควรจดเครื่องหมายการค้าอย่างยิ่งคือ เจ้าของแบรนด์หรือเจ้าของธุรกิจ ที่ขายสินค้า หรือบริการ เพื่อป้องกันผู้ไม่หวังดีมาขโมยแบรนด์ หรือโลโก้ของเราไปใช้

นอกจากนี้ การจดเครื่องหมายการค้ายังเหมาะสมกับบุคลากร ในงานด้านอื่น ๆ อีก ยกตัวอย่างเช่น

– ผู้ผลิตซอฟต์แวร์ ควรจดทะเบียน ปกป้องโลโก้ ของโปรแกรม หรือแอพพลิเคชั่น

– นักออกแบบที่สร้างสรรค์ผลงาน คาแรกเตอร์การ์ตูนย์ต่างๆ ก็สามารถนำมาจดเป็นเครื่องหมายการค้าได้

– ผู้ผลิตสื่อ vlogger หรือ youtuber ก็สามารถจดทะเบียนป้องกันชื่อช่อง หรือชื่อรายการได้

สถานที่จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า

การจดเครื่องหมายการค้า ในปัจจุบันมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น เพราะเราสามารถจดทะเบียนแบบออนไลน์ได้แล้ว

นอกจากนี้ หากใครไม่สะดวกที่จะทำการยื่นจดทะเบียนออนไลน์ ก็สามารถยื่นแบบกระดาษที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ที่อยู่ที่สนามบินน้ำ นนทบุรี หรือที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดให้บ้านท่านก็ได้

การจดเครื่องหมายการค้าในต่างประเทศ

เครื่องหมายการค้า มีลักษณะเป็นหลักดินแดน กล่าวคือ จดทะเบียนที่ไหน ก็คุ้มครองแค่ประเทศนั้น ซึ่งหากต้องการความคุ้มครองที่ประเทศใด ก็ต้องเข้าไปจดทะเบียนในประเทศนั้น

การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในต่างประเทศ สามารถทำได้โดย 2 วิธี หลักๆ คือ

1. Direct route

สำหรับวิธีการแรก Direct route คือการเข้าไปจดทะเบียนยังประเทศที่ต้องการรับความคุ้มครองโดยตรงเป็นรายประเทศ ซึ่งในลักษณะนี้จะมีข้อดีคือ เราสามารถเลือกจำพวกและรายการสินค้า ที่ถูกต้องตามข้อกำหนดของแต่ละประเทศได้เลย ทำให้ลดโอกาสการโดนสั่งแก้ไขในภายหลัง

ส่วนข้อเสียสำหรับวิธี Direct route คือ เราจะมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง ประกอบกับกรณีเรายื่นจดหลายประเทศ อาจทำให้เรามีหลายคำขอที่ต้องรับผิดชอบในการต่ออายุ ซึ่งมีระยะเวลาที่แตกต่างกัน

2. Madrid protocol

Madrid เป็นกระบวนการระหว่างประเทศ ในการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้จดทะเบียน ให้สามารถเลือกยื่นจดทะเบียนในประเทศปลายทางที่เป็นสมาชิก Madrid หลังจากยื่นจดทะเบียนในประเทศแรกเรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอนการเข้าไปดำเนินการในประเทศต่างๆ เพราะใช้แค่การดำเนินการในประเทศต้นทางแค่ที่เดียว ทำให้มีข้อดีคือ ประหยัดค่าใช้จ่าย และลดความยุ่งยากในการดำเนินการ

สำหรับข้อเสียที่สำคัญคือ การยื่นในประเทศภาคี Madrid ต้องใช้ชุดคำขอเดียวกัน ซึ่งมีโอกาสได้รับคำสั่งแก้ไขจากประเทศปลายทางสูง เนื่องจากจำพวก รายการสินค้าและกฎหมายในแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน ประกอบกับเรื่องของ central attack ที่หากคำขอประเทศต้นทางมีคำสั่งไม่รับจดทะเบียน หรือโดนคัดค้านไม่รับจด จะมีผลให้คำขอปลายทางทั้งหมดตายตามไปด้วย ซึ่งต้องไปไล่ฟื้นสิทธิ์ในแต่ละประเทศอีกทีหนึ่ง

ประโยชน์ของการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า

1. ป้องกันคนละเมิดเครื่องหมายการค้า

แน่นอนว่าประโยชน์แรกของการจดทะเบียนโลโก้ คือ ป้องกันผู้ไม่หวังดี นำเครื่องหมายของเราไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งนอกจากจะทำให้ผู้บริโภคสับสนหลงผิดแล้ว ยังส่งผลให้แบรนด์เราอาจถูกลดทอนคุณค่า หรือถูกเข้าใจผิดจากผู้บริโภคอีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม : ทำอย่างไร?เมื่อเครื่องหมายโดนละเมิด

เพิ่มเติม
เพิ่มเติม

2. ซื้อขายแลกเปลี่ยน

เครื่องหมายการค้า จัดเป็นทรัพย์สินที่ไม่มีตัวตน (Intangible asset) ชนิดหนึ่ง ซึ่งเมื่อขึ้นชื่อว่าทรัพย์สินแล้ว ย่อมสามารถซื้อขาย เปลี่ยนมือกันได้ ดังนั้น เราก็สามารถขายเครื่องหมายการค้าให้กับผู้อื่นได้ เป็นการสร้างรายได้ให้กับเจ้าของอีกวิธีหนึ่ง

3. อนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิ์

การอนุญาตให้ใช้สิทธิ์ แตกต่างจากการซื้อขาย ตรงเรื่องสิทธิ์ความเป็นเจ้าของ (ownership) กล่าวคือ กรณีการซื้อขาย จะเป็นการโอนสิทธิ์ความเป็นเจ้าของในเครื่องหมายการค้าให้กับผู้ซื้อหรือผู้ขาย โดยที่เจ้าของเดิมไม่มีสิทธิ์หรือภาระความรับผิดชอบใดๆ เหลืออยู่กับเครื่องหมายการค้านั้น

ขณะที่ การอนุญาตให้ใช้สิทธิ์ (Licensing) เป็นการให้สิทธิบางประการ แก่ผู้อื่น โดยที่เจ้าของยังคงเหลือสิทธิ์บางประการเหนือเครื่องหมายการค้านั้นอยู่

การอนุญาตให้ใช้สิทธิ์ มีประโยชน์ในการสร้างรายได้ระยะยาวให้กับเจ้าของแบรนด์ อย่างเช่น กรณีแบรนด์ที่มีชื่อเสียง อาจอนุญาตให้ผู้อื่นนำเครื่องหมายการค้าของตน ไป co-brand ด้วย

4. สร้างการจดจำในระยะยาว

เครื่องหมายการค้า เป็น long term strategy asset ที่ช่วยสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันให้กับธุรกิจ กล่าวคือ ในระยะแรกเริ่มของธุรกิจนั้น แบรนด์หรือเครื่องหมายการค้าของเราอาจยังไม่มีคนรู้จักมากเท่าไหร่ ดังนั้น เราอาจจะต้องเข้าสู่ตลาดด้วยทรัพย์สินทางปัญญาชนิดอื่น เช่น สิทธิบัตร เพื่อป้องกันคู่แข่งทำสินค้าหรือบริการคล้ายกับเรา

ในขณะที่เราผูกขาดตลาดด้วยสิทธิบัตรนั้น เป็นช่วงเวลาที่ดีที่เราจะสร้างแบรนด์ หรือเครื่องหมายการค้าของเราให้เข้มแข็ง ให้ผู้บริโภครู้จัก จนถึงวันที่สิทธิบัตรหมดอายุ ก็จะเป็นวันที่เครื่องหมายการค้า จะมาทำหน้าที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าแทน และสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันให้กับเรา

จ้างจดเครื่องหมายการค้า ได้อะไร?

การจดเครื่องหมายการค้า สามารถทำเองได้ที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ หรือยื่นจดทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ โดยมีค่าใช้จ่ายเป็นค่าธรรมเนียมราชการตามจำพวกของสินค้า/บริการที่เราเลือก

อย่างไรก็ดีการจ้างจดเครื่องหมายการค้าโดยที่ปรึกษานั้น สิ่งที่จะได้เพิ่มเติมคือ การวิเคราะห์ข้อกฏหมายที่เกี่ยวกับการรับจดทะเบียน และการสืบค้นเครื่องหมายการค้าเชิงลึก เช่น คำบางคำเขียนไม่เหมือนกัน แต่มีเสียงที่มีลักษณะใกล้เคียง เช่นคำว่า Nike กับ Neki ซึ่งการสืบค้นแบบปกติอาจไม่สามารถเจอเครื่องหมายที่มีเสียงเหมือนคล้ายได้ ดังนั้นการจ้างที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ ก็สามารถช่วยเพิ่มความมั่นใจในการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้

ทั้งนี้หากใครมีความสงสัยเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ เครื่องหมายการค้า หรือทรัพย์สินทางปัญญาอื่นๆ หรือต้องการขอคำปรึกษาเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา สามารถติดต่อสอบถามเข้ามาได้ ทั้งทางช่องทางไลน์และโทรศัพท์

ปรึกษาฟรี การจดเครื่องหมายการค้า

ติดต่อเรา
ติดต่อเรา

สรุป

เครื่องหมายการค้า หรือโลโก้ คือทรัพย์สินทางปัญญาที่มีความสำคัญอย่างมากต่อการทำธุรกิจ เพราะช่วยให้ผู้บริโภค สามารถจำแนกความแตกต่างของสินค้าหรือบริการได้ ซึ่งลักษณะเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนได้นั้นต้องประกอบด้วย 3 องค์ประกอบคือ 1.มีความบ่งเฉพาะ 2.ไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายที่จดทะเบียนไว้ก่อน และ 3.ไม่เป็นเครื่องหมายต้องห้าม ตาม พรบ.เครื่องหมายการค้า โดยเครื่องหมายการค้าจะให้ความคุ้มครองในประเทศที่จดทะเบียนเท่านั้น หากต้องการความคุ้มครองในต่างประเทศ ต้องทำการเข้าไปจดทะเบียนในประเทศต่างๆ ซึ่งทำได้ 2 วิธี คือ 1. Direct route และ 2. Madrid protocol ซึ่งมีข้อดี-ข้อเสียที่แตกต่างกัน ดังนั้นผู้ประกอบการที่ต้องการสร้างแบรนด์ที่เข้มแข้ง ปกป้องการละเมิด ควรจะต้องศึกษาและทำความเข้าใจ หรือหาที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญ ในการดำเนินการเรื่องเครื่องหมายการค้า เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายที่บานปลายในอนาคต

อ้างอิง

บทความเครื่องหมายการค้า กรมทรัพย์สินทางปัญญา