เรียกได้ว่าเพิ่งผ่านไปไม่นานเท่าไหร่นักสำหรับกรณีที่ทาง Krafton บริษัทผู้ผลิตเกมที่ ณ ปัจจุบันเรียกได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของเกมแนว Battle Royal ไปแล้วอย่าง Player Unknow Battleground หรือที่หลายๆคนเรียกติดปากว่า PUBG ที่ได้ทำการยื่นฟ้องบริษัท Garena ผู้ให้บริการเกม Battle Royal บนมือถือที่หลายๆคน (โดยเฉพาะเด็กๆ) น่าจะรู้จักกันดีอย่างเกม Freefire ไปในช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่งก็ดูเหมือนว่าเรื่องแบบนี้จะมีให้เห็นกันบ่อยซะเหลือเกิน เพราะล่าสุด ทาง Riot บริษัทผู้ให้บริการเกมชื่อดัง ได้ทำการยื่นฟ้องบริษัทผู้ผลิตเกมสัญชาติจีนอย่าง NetEase ว่าเกมมือถือที่ทาง NetEase ให้บริการอยู่ที่มีชื่อว่า Hyper Front นั้น ได้ทำการลองเลียนแบบเกม Valorent เกมแนว hero shooter( หรือ Character-based FPS ว่าง่ายๆคือเกมยิงกันนั่นแหละ แต่ต่างจากเกมยิงกันทั่วไปตรงที่ตัวละครของเราจะมีความสามารถที่แตกต่างกัน ซึ่งการเล่นก็จะต้อง(หรืออาจจะไม่)อาศัยทีมเวิร์คพอสมควร) ยิงหัวที่ตอนนี้ไม่มีใครไม่รู้จัก
โดยหากอ้างอิงจากคำฟ้องของทางฝ่าย riot ที่ได้ทำการยื่นต่อศาลธุรกิจและทรัพย์สินแห่งอังกฤษและเวลส์ ทางฝั่ง Riot ได้ระบุว่า Hyper Front ซึ่งถูกสร้างและพัฒนาโดย NetEase นั้นเป็นงานอันละเมิดลิขสิทธิ์ซึ่งถูกสร้างขึ้นโดยทำซ้ำองค์ประกอบหลายๆส่วนของเกม Valorent โดยทาง Riot ได้ทำการเปรียบเทียบองค์ประกอบต่างๆของเกม Hyper Front และ Valorent ไม่ว่าจะเป็นหน้าต่าง UI ของเกม การออกแบบตัวละคร ลักษณะของสกิล สกินปืน ซึ่งมีลักษณะที่คล้ายกันมาก หรือแม้กระทั่งชื่อในตอนที่ Hyper Front เปิด open beta ที่ใช้ชื่อว่า “Project M” ซึ่งก็ดันไปคล้ายกับชื่อ “Project A” ซึ่งทาง Valorent เคยใช้ในช่วงเริ่มต้น ทั้งหมดนี้เพื่อเป็นเหตุผลสนับสนุนว่า Hyper front นั้น เกิดขึ้นจากการทำซ้ำองค์ประกอบหลายๆอย่างของตัวเกม Valorent (ว่าง่ายๆก็คือลอกเขามานั่นแหละ) นอกจากนี้ ทาง Riot ยังได้ระบุในคำฟ้องเพิ่มเติมอีกว่าทาง Netease ได้ทราบอยู่แล้วว่าทาง Riot มีแผนที่จะปล่อยเกม Valorent ในเวอรชันมือถือ เลยได้ทำการสร้างเกม Hyper Front ขึ้นและเปิดให้บริการในปีในปี 2021 ภายหลังจากที่ Valorent เปิดให้บริการมา 1 ปี เพื่อให้เป็น “เกมแบบ Valorent ในเวอรชันมือถือ”
ซึ่งเรื่องแบบนี้ก็คงพูดได้ว่าไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร เพราะปัญหาที่ว่าเกมบางเกมมีแนวทางการเล่นเหมือนกัน (ซึ่งในบางเกมก็เหมือนกันมากเกินไป) มันมีมานานแล้ว นานก่อนเรื่องของ PUBG vs Free Fire เสียอีก ซึ่งหากอ้างอิงตามกฎหมายลิขสิทธิ์ของบ้านเรา (ซึ่งต้องบอกก่อนว่า กฎหมายลิขสิทธิ์ของเกือบทุกประเทศ มีมาตรฐานขั้นต่ำที่เหมือนกัน ในเรื่องหลักๆจึงมีความคล้ายคลึงกัน)แนวความคิดหรือเค้าโครงจะไม่ได้รับความคุ้มครอง หนึ่งในเหตุผลที่มีการบัญญัติกฎหมายไว้แบบนี้ก็เพื่อไม่ให้เป็นการจำกัดการใช้ความคิดสร้างสรรค์ สมมุติว่ากฎหมายกำหนดให้แนวความคิดหรือเค้าโครงได้รับความคุ้มครองด้วย ถ้าเป็นแบบนั้นตอนนี้ก็คงจะมีหนังให้เราดูอยู่ไม่กี่เรื่อง และท่านผู้อ่าน(รวมถึงแอดมินด้วย) ก็คงต้องนั่งเล่นเกม Wolfenstein (เกมFPSเกมแรกๆของโลก) กันไปยาวๆ แล้วแบบนี้บางคนก็อาจจะสงสัยว่า เอ้ย ถ้าเกิดกฎหมายไม่ทำการคุ้มครองแนวความคิด แบบนี้ Riot ก็ไม่น่าจะไปฟ้องเขาได้สิ ซึ่งในส่วนนี้ก็คงต้องบอกว่า แม้ว่าจะไม่ใช่กรณีที่ก๊อปตัว Code ของเกมมายัดใส่ทำเกมใหม่ หรือทำแผ่นปลอมซึ่งเรียกได้ว่าเป็นการทำซ้ำแบบตรงตัวไปเลย แต่การที่องค์ประกอบหลายๆอย่างของเกม Hyper Front ของทาง NetEase เหมือนกับเกม Valorent นั้น ก็อาจจะมองได้ว่าองค์ประกอบต่างๆที่เหมือนกันนั้น ไม่ได้แค่บังเอิญเหมือนกันจากเค้าโครงหรือแนวคิด แต่เป็นการตั้งใจที่จะก๊อปในส่วนนั้นๆเสียมากกว่า
เป็นแบบนี้แล้วบางคนก็อาจจะสงสัยอีกว่า แล้วแบบนี้เราจะดูยังไงล่ะว่าแบบไหนแค่มีเค้าโครงความคิดเหมือนกัน แบบไหนก๊อปกันมา ความต่างของสองอย่างนี้ถูกกั้นไว้ด้วยเส้นบางๆเท่านั้นเอง แต่ถ้าจะให้ยกตัวอย่างเกมที่เหมือนกันแค่ในส่วนของเค้าโครงความคิดเท่านั้น ว่าง่ายๆคือรับแรงบันดาลใจมาไม่ใช่ลอกกันมาโต้งๆ ก็คงจะเป็นเกมชื่อดังอย่าง Overwatch ที่เพิ่งมีการปล่อยภาคสองออกมาเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากเกมรุ่นเก๋าที่ตอนนี้ก็ยังเปิดให้บริการอยู่ (เป็นเกมโปรดของแอดมินเองแหละ)อย่างเกม Team Fortress 2 ซึ่งทั้งสองเกมมนี้ก็เป็นเกมแนว Hero Shooter เหมือนกัน และความสามารถของตัวละครในทั้งสองเกมนี้ในบางครั้งก็ค่อนข้างคล้ายกัน แต่จะเห็นได้ว่าทั้งรูปแบบการนำเสนอ และการออกแบบตัวละคร รวมถึงระบบอื่นๆนั้น ต่างกันโดยสิ้นเชิง ทำให้สามารถพูดได้เต็มปากว่า สองเกมนี้ไม่ได้ก๊อปกันมาอย่างแน่นอน
ซึ่งแน่นอนว่าในเรื่องของ Riot กับ NetEase นั้น ก็คงยังสรุปไม่ได้แน่ชัด เพราะเพิ่งจะมีการฟ้องคดีกันเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับใครก็ตามที่คิดจะสร้างผลงานอะไรขึ้นมา ทางเราแนะนำว่าไม่มีงานไหนจะดีไปกว่างานที่คุณทำขึ้นด้วยตัวเองแล้วนะครับ