ทำแบรนด์เครื่องสำอาง-สกินแคร์ ควรจดทะเบียนอะไรไม่ให้คนเลียนแบบ?
ปัจจุบันหลายคนหันมาทำแบรนด์เครื่องสำอางและสกินแคร์กันมากขึ้น อาจจะมาจากความชอบส่วนตัว และต้องการใช้ความรู้ที่มีคิดค้นสูตรที่แตกต่าง หรือต้องการประยุกต์การใช้สารสกัดจากพืชท้องถิ่นมาเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์บำรุงผิวเพื่อเพิ่มมูลค่า ที่เราอาจจะเห็นกันอยู่บ่อย ๆ ก็อย่างเช่น ผลิตภัณฑ์ลิปสติกที่มีสีสันและบรรจุภัณฑ์แบบใหม่ ๆ ครีมกันแดดสูตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศใต้ทะเล หรือครีมบำรุงผิวผสมสารสกัดจากสมุนไพรที่ผ่านการวิจัยพัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เป็นต้น แต่หลายคนที่กำลังจะทำแบรนด์เป็นของตัวเอง อาจจะสงสัยว่าด้วยการพัฒนาสูตรต่าง ๆ เหล่านี้ จะต้องมีการขอจดสิทธิบัตร ขึ้นทะเบียน หรือคุ้มครองผลงานของตัวเองอย่างไรถึงจะไม่ถูกนำไปลอกเลียนแบบ เราไปหาคำตอบกัน
เครื่องหมายการค้า
เริ่มต้นกันที่เครื่องหมายที่มีความสำคัญต่อสินค้าของคุณโดยตรง นั่นก็คือเครื่องหมายการค้า (Trademark) ซึ่งหมายความรวมถึงโลโก้ ชื่อแบรนด์ ตลอดจนชื่อส่วนผสมชื่อใหม่ที่ทางแบรนด์คิดค้นขึ้นมาโดยเฉพาะ
โดยเครื่องหมายนี้เป็นสิ่งแรกที่เราควรจดและให้ความสำคัญไม่แพ้การจดสิทธิบัตรเลย ถึงแม้แบรนด์เล็กที่เพิ่งเริ่มต้นทำธุรกิจอาจจะยังไม่ต้องใส่ใจเรื่องนี้มากเท่าไหร่ แต่ก็ควรตรวจเช็กให้มั่นใจว่าไม่ได้ออกแบบซ้ำกับโลโก้ของคนอื่นก็พอ อีกทั้งยังเป็นการช่วยเพิ่มความมั่นใจและป้องกันไม่ให้คนอื่นขโมยเครื่องหมายและชื่อแบรนด์ของเราไปใช้ เพราะอาจส่งผลต่อภาพลักษณ์ของแบรนด์ได้ในอนาคต เพราะฉะนั้น จึงควรจดทะเบียนคุ้มครองเอาไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ก็จะดีที่สุด
โลโก้และชื่อแบรนด์ของเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่ขายกันอยู่ทั่วไปตามร้านค้าชั้นนำนั้น ส่วนใหญ่จะผ่านการจดทะเบียนแล้ว เพราะแบรนด์เหล่านี้ต้องป้องกันไม่ให้คนนำเครื่องหมายไปแอบอ้างหรือปลอมแปลง และนำไปใช้กับผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่ของแบรนด์โดยตรง
จดสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตร
สิทธิบัตรเป็นหนังสือคุ้มครองที่ใช้กับสูตรเครื่องสำอางขั้นสูง ส่วนใหญ่แบรนด์ที่จดมักเป็นแบรนด์ใหญ่ที่ทำการค้นคว้าวิจัยอย่างจริงจัง จนได้ส่วนผสมหรือนวัตกรรมเครื่องสำอางที่ไม่เคยมีมาก่อนในโลกจริง ๆ ส่วนในเรื่องของบรรจุภัณฑ์หากเป็นการคิดค้นขึ้นมาใหม่และไม่เหมือนใคร สามารถขอจดสิทธิบัตรคุ้มครองบรรจุภัณฑ์ได้ โดยจะมีระยะเวลาคุ้มครอง 20 ปี และคุ้มครองเฉพาะภายในประเทศที่ได้ทำการจดทะเบียนไว้เท่านั้น
ตัวอย่างของเครื่องสำอางหรือส่วนผสมที่จดสิทธิบัตร เช่น THIAMIDOL สารไวท์เทนนิ่งของ Eucerin ซึ่งเกิดจากการพัฒนาของสถาบันวิจัยในเครือ Beiersdorf มีการจดสิทธิบัตรคุ้มครองสูตรและเครื่องหมายการค้าคุ้มครองชื่อ THIAMIDOL จึงเป็นแบรนด์เดียวที่สามารถใช้สูตรส่วนผสมและชื่อสารดังกล่าวในการขายสินค้าได้
ส่วนกรณีแบรนด์ที่ผลิตเอง ทั้งแบรนด์ชุมชน หรืองานวิจัยที่ชุมชนทำร่วมกับสถาบันทางวิทยาศาสตร์ที่ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงมากหรือมีการนำมาปรับปรุงเพียงเล็กน้อย สามารถจดอนุสิทธิบัตรคุ้มครองสูตรได้โดยผ่านตัวแทนรับจดอนุสิทธิบัตรที่จะช่วยตรวจสอบและดำเนินการให้ โดยมีระยะเวลาการคุ้มครองครั้งละ 6 ปี สามารถยื่นต่ออายุได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละ 2 ปี รวมระยะเวลาคุ้มครองทั้งหมดไม่เกิน 10 ปี และคุ้มครองเฉพาะภายในประเทศที่จดทะเบียน
ตัวอย่างเช่น เครื่องสำอางบำรุงผิวที่มีส่วนผสมของสารสกัดรำข้าวทับทิมชุมแพ ซึ่งเป็นการนำวัตถุดิบขึ้นชื่อในท้องถิ่นจังหวัดขอนแก่นมาวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยสวนดุสิต เพื่อเพิ่มมูลค่าโดยการนำไปทำเป็นสกินแคร์ และเพื่อเป็นการคุ้มครองสูตรและนวัตกรรม ไม่ให้ผู้อื่นนำสารสกัดดังกล่าวไปใช้ผลิตสินค้าประเภทเดียวกัน ทางผู้วิจัยพัฒนาจึงได้ยื่นจดทะเบียนกับผู้รับจดอนุสิทธิบัตรนั่นเอง
ลิขสิทธิ์
โดยปกติแล้วในเครื่องสำอางไม่ได้มีการจดลิขสิทธิ์ในเรื่องสูตรหรือส่วนผสม ยกเว้นหากแบรนด์มีการออกแบบร่วมกับงานสร้างสรรค์ที่มีลิขสิทธิ์ เช่น นำงานดีไซน์จากศิลปิน ตัวการ์ตูน Disney, LINE Friends หรือ Marvel มาใช้บนปลอกลิปสติก ตลับแป้ง หรือขวดครีมบำรุง ในกรณีนี้จำเป็นต้องขอลิขสิทธิ์ ส่วนแบรนด์อื่นที่ไม่ได้ขออนุญาตเอาไว้ ก็จะไม่มีสิทธิ์เอางานดีไซน์หรือตัวการ์ตูนเหล่านี้ไปใช้ได้
นอกจากนี้ หากแบรนด์ไหนออกแบบมาสคอตหรือตัวการ์ตูนประจำแบรนด์ขึ้นมาเอง และกลัวถูกนำไปลอกเลียนแบบก็ควรนำไปจดลิขสิทธิ์ด้วยเช่นกัน
การสร้างแบรนด์และผลิตภัณฑ์ของตัวเองนั้นเป็นเรื่องดีและช่วยเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค แต่ด้วยความที่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องใช้กับร่างกายโดยตรง ทั้งยังเป็นสินค้าที่ค่อนข้างเป็นที่ต้องการในตลาด อย่าลืมใส่ใจในเรื่องสูตรส่วนผสมที่ต้องปลอดภัยจริง ๆ และนำสูตรนั้นไปยื่นขอจดสิทธิบัตรหรือดำเนินการกับตัวแทนรับจดอนุสิทธิบัตรให้เหมาะสมกับนวัตกรรมของสินค้า หรือถ้าหากผลิตภัณฑ์ของคุณไม่ได้เป็นการคิดค้นสูตรขึ้นมาใหม่ อย่างน้อยก็ควรจดทะเบียนคุ้มครองเครื่องหมายการค้า จะได้มีทั้งความสบายใจและความคุ้มครองทางกฎหมายเอาไว้ด้วย
หากผู้ประกอบการท่านใดยังไม่มั่นใจว่าควรจดทะเบียนอะไรบ้าง ที่ ATP Serve เรามีผู้เชี่ยวชาญด้านการจดสิทธิบัตร อนุสิทธิบัตร ตลอดจนการขึ้นทะเบียนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมให้คำปรึกษาและดำเนินการจดทะเบียนให้คุณ สอบถามเพิ่มเติมหรือติดต่อเราได้ที่ contact@atpserve.com