สิทธิบัตร จัดเป็นทรัพย์สินทางปัญญาชนิดหนึ่งที่ รัฐออกให้เพื่อคุ้มครองการประดิษฐ์ (Invention) หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ (Product Design) ที่มีลักษณะตามที่กฎหมายกำหนด (อ่านเพิ่มเติมเรื่อง สิทธิบัตรเบื้องต้น) เป็นสิทธิพิเศษ ที่ให้ผู้ประดิษฐ์คิดค้นหรือผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์ มีสิทธิที่จะผลิตสินค้า จำหน่ายสินค้าแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งการจะได้มาซึ่งสิทธิแต่เพียงผู้เดียวนั้น เราต้องทำจดทะเบียนต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา โดยต้องเตรียมเอกสารต่าง ๆ ในการยื่นจดทะเบียน รวมไปถึงร่างคำขอสิทธิบัตรของงานประดิษฐ์ ดังนั้น ในบทความนี้ผมจะมาชวนทุกคนเรียนรู้เรื่องการร่างคำขอสิทธิบัตรด้วยตัวเอง ถ้าพร้อมแล้ว เริ่มกันเลยนะครับ
สารบัญ
ร่างคำขอรับสิทธิบัตร คืออะไร
ร่างคำขอรับสิทธิบัตร (patent specification) เป็นส่วนสำคัญที่จะแสดงสาระสำคัญของการประดิษฐ์ที่ต้องการขอรับความคุ้มครอง รวมไปถึงขอบเขตที่ต้องการขอรับความคุ้มครอง
ดังนั้นหากเราต้องการความคุ้มครองที่มีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีเทคนิคการเขียนร่างคำขอ ให้มีความชัดเจน ชัดแจ้งและสมบูรณ์ ทั้งในเรื่องขององค์ประกอบ และเนื้อหาภายในของร่างคำขอสิทธิบัตร ที่ปรากฏอยู่ในรายละเอียดการประดิษฐ์ โดยหลักการสำคัญเลยก็คือ ไม่แคบจนเกินไปจนทำให้ไม่คุ้มครองอะไรเลย และไม่กว้างจนเกินไป จนงานไม่มีความใหม่ ต้องมีความพอดี พอดี
องค์ประกอบของร่างคำขอ
เนื่องจาก ร่างคำขอรับสิทธิบัตร มีลักษณะเป็นแบบฟอร์ม จึงจำเป็นต้องมีหัวข้อตามที่กำหนด โดยการเขียนหัวข้อนั้นต้องถูกต้องไม่ผิดเพี้ยน และมีเนื้อหาที่สอดคล้องกับหัวข้อนั้นๆ กล่าวคือ รูปภาพต้องใส่ในหัวข้อรูปภาพ ไม่สามารถใส่ในหัวข้ออื่นได้ โดยหัวข้อต่างๆนั้น มีอะไรบ้าง และต้องใส่เนื้อหาอย่างไร เราไปดูกันเลย
1. ชื่อที่แสดงถึงการประดิษฐ์
ในการร่างคำขอสิทธิบัตรชื่อการประดิษฐ์เป็นส่วนสำคัญในการบอกลักษณะของสิ่งประดิษฐ์นั้น โดยต้องเป็นชื่อที่แสดงถึงลักษณะทางเทคนิคของการประดิษฐ์นั้น โดยต้องไม่เป็นชื่อเฉพาะของบุคคล, ชื่อที่เป็นเครื่องหมายการค้า หรือชื่อที่อวดอ้างสรรพคุณ เช่น รถไถนาแบบสุพล, รถเข็นมหัศจรรย์, ครีมบำรุงผิวหน้าขาววิ้ง, ขนมทิพย์ เป็นต้น รวมไปถึงจะต้องเป็นชื่อที่ตรงกันกับแบบพิมพ์คำขอรับสิทธิบัตร
ตัวอย่างชื่อที่แสดงถึงการประดิษฐ์
สาขาวิศวกรรม | สาขาเคมี |
---|---|
|
|
ในการเขียนร่างคำขอนั้น ชื่อการประดิษฐ์ต้องใช้เหมือนกันตลอดทั้งร่างคำขอ ห้ามเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาเด็ดขาด
ชื่ออย่างกว้าง หรืออย่างแคบ ดีกว่ากัน? ในความเห็นของผม ชื่ออย่างกว้างจะดีกว่า หนึ่งเพราะสั้นกระชับ และสองคือป้องกันคนอื่นสืบค้นเจองานเราโดยง่าย เพราะเดี๋ยวคนอื่นแอบทำตามเนื้อหาที่เราเปิดเผยไว้
2. สาขาวิทยาการที่เกี่ยวข้องกับการประดิษฐ์
หัวข้อนี้ หมายถึงสาขาของงานประดิษฐ์ของเรา เพื่อเป็นการบอกให้ผู้อ่านรู้ว่างานนี้อยู่ในหมวดไหน เรื่องอะไร
การระบุสาขาวิทยาการที่เกี่ยวข้องกับการประดิษฐ์นั้น จะต้องระบุสาขาให้เกี่ยวข้องกับงานประดิษฐ์นั้น ๆ ยกตัวอย่างเช่น สาขาวิศวกรรมเครื่องกล, สาขาวิศวกรรมโยธา, สาขาเคมี หรือชีวเคมี เป็นต้น แต่ถ้าในงานประดิษฐ์นั้นมีการบูรณาการร่วมกันหลายสาขาหรือไม่แน่ชัดว่าอยู่ในสาขาวิชาการใด สามารถระบุได้ดังนี้
‘’(ระบุสาขาวิทยาการ)’’ ในสาขาที่เกี่ยวข้องกับ ‘’(ระบุชื่อที่แสดงถึงการประดิษฐ์) ‘’
ตัวอย่างเช่น
เคมีที่เกี่ยวข้องกับกรรมวิธีการผลิตหมากฝรั่งและผลิตภัณฑ์ที่ได้จากกรรมวิธีนี้
3. ภูมิหลังของศิลปะหรือวิทยาการที่เกี่ยวข้อง
ภูมิหลังของศิลปะหรือวิทยาการที่เกี่ยวข้อง หรือเราเรียกสั้นๆว่า “ภูมิหลังการประดิษฐ์” เป็นการระบุถึงการประดิษฐ์ชนิดเดียวกันที่มีมาก่อน พร้อมระบุปัญหาทางเทคนิคของงานประดิษฐ์ก่อนหน้าดังกล่าว ซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างมาก งานจะได้รับจดหรือไม่ ส่วนหนึ่งมาจากการเขียนภูมิหลังที่ชัดเจนและครอบคลุม เพื่อให้เข้าใจว่างานประดิษฐ์ที่คิดค้นขึ้นมาใหม่ มีความแตกต่างจากงานประดิษฐ์ก่อนหน้าอย่างไร หรือระบุสาเหตุที่ต้องมีงานประดิษฐ์นี้เพื่อมาแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น
การเขียนภูมิหลังที่ดี ควรมีงานประดิษฐ์ก่อนหน้ามาอ้างอิง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิทธิบัตรที่มีการยื่นจดทะเบียนเอาไว้ก่อน ดังนั้นเราจึงต้องมีการสืบค้นสิทธิบัตร
โดยสามารถอ้างอิงโดยการระบุเลขที่คำขอ รวมไปถือชื่อ และ อธิบายรายละเอียดและสาระสำคัญของงานประดิษฐ์ และปัญหาทางเทคนิคที่บกพร่องของงานประดิษฐ์นั้น ๆ และอธิบายการแก้ไขปัญหาการปรับปรุงของงานประดิษฐ์นี้ ให้เข้าใจพอสังเขป
กรณีงานก่อนหน้ามีเอกสารเป็นภาษาอังกฤษให้แปลเป็นไทยให้ถูกต้อง เว้นแต่เป็นคำที่ไม่สามารถแปลเป็นภาษาไทย สามารถใช้เป็นคำภาษาต่างประเทศได้ ยกตัวอย่างเช่น ชื่อวารสาร
4. ลักษณะและความมุ่งหมายของการประดิษฐ์
ลักษณะและจุดมุ่งหมายของงานประดิษฐ์ในหัวข้อนี้เป็นเหมือน Abstract ของงาน โดยต้องอธิบายถึงลักษณะของงานประดิษฐ์ที่ได้คิดค้นขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาของงานประดิษฐ์ที่มีอยู่ก่อนหน้า โดยให้อธิบายถึงโครงสร้างหรือเทคนิคของการประดิษฐ์ ให้เห็นถึงส่วนที่แตกต่าง พัฒนา ปรับปรุงขึ้น และอธิบายจุดมุ่งหมายหรือจุดประสงค์ของการประดิษฐ์นี้ ว่าการประดิษฐ์นี้ทำขึ้นเพื่ออะไร
การเขียนลักษณะและความมุ่งหมาย ควรแยกเป็น 2 ย่อหน้า โดยย่อหน้าแรก พูดถึงงานประดิษฐ์ และย่อหน้าที่สอง พูดถึงประโยชน์ จุดมุ่งหมาย
5. การเปิดเผยการประดิษฐ์โดยสมบูรณ์
มาถึงหัวข้อที่มีความสำคัญหัวข้อหนึ่งในร่างคำขอรับสิทธิบัตร นั่นคือ “การเปิดเผยการประดิษฐ์โดยสมบูรณ์” เพราะว่าหัวข้อนี้ เป็นหัวข้อที่เราจะบรรยายรายละเอียดของงานประดิษฐ์ของเราให้ผู้ตรวจสอบเข้าใจ
การบรรยายการเปิดเผยการประดิษฐ์โดยสมบูรณ์ ก็ตรงตามชื่อเลย เพราะรายละเอียดจะต้องเปิดโดยสมบูรณ์ เพื่อแลกกับความคุ้มครองที่จะได้รับ การเปิดเผยนั้นต้องรัดกุมและชัดแจ้ง เพียงพอที่จะทำให้ผู้มีความชำนาญในระดับสามัญในศิลปะหรือวิทยาการที่เกี่ยวข้องกับการประดิษฐ์สามารถทำและปฎิบัติการได้
รวมไปถึงให้อธิบายถึงลักษณะโครงสร้างและความสัมพันธ์ของส่วนประกอบต่าง ๆ ว่ามีลักษณะอย่างไร เกี่ยวข้องหรือสัมพันธ์กันอย่างไร ซึ่งสามารถอธิบายตามลำดับรูปเขียน โดยเริ่มจากชิ้นแรกก่อนแล้วจึงบรรยายส่วนอื่น ๆ ต่อไปตามลำดับ ให้สอดคล้องกับเลขอ้างอิงที่ต่อท้ายชื่อชิ้นส่วนนั้น ๆ เช่น อธิบายตามลำดับและโครงสร้างรูปเขียนโดยให้ระบุข้อความ ‘’ตามรูปที่ …’’ และบรรยายลักษณะโครงสร้างดังกล่าว
ในกรณีที่เป็นกระบวนการหรือกรรมวิธี ให้บรรยายแต่ละขึ้นตอนอย่างสัมพันธ์กัน พร้อมกับบอกสภาวะหรือเงื่อนไข หรืออุปกรณ์ เครื่องทมือเครื่องใช้ในแต่ละขึ้นตอน ตั้งแต่เริ่มต้นจนจบ จนให้ผู้อ่านเข้าใจอย่างชัดแจ้งและทำตามได้ รวมไปถึงถ้ามีผลการทดลอง หรือทดสอบสามารถนำผลการทดลองมาอธิบายเพิ่มเติมเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบการประดิษฐ์ได้
ในการเปิดเผยรายละเอียดนั้น พึงนึกเสนอว่า เปิดเผยให้กว้างเพียงพอที่ยังคงมีความใหม่ และไม่ควรแคบเกินไปจนคนอื่นอ่านแล้วนำไปดัดแปลงได้โดยง่าย
6. คำอธิบายรูปเขียนโดยย่อ
กรณีที่มีรูปเขียน แผนภูมิ หรือแผนผัง ภาพ ให้บรรยายชื่อรูปไว้ในหัวข้อนี้ โดยต้องอธิบายว่าแสดงให้เห็นว่ารูปนั้นเป็นส่วนใดของการประดิษฐ์นั้น ๆ
7. วิธีการในการประดิษฐ์ที่ดีที่สุด
กรณีที่มีการประดิษฐ์ในหลากหลายวิธี ต้องระบุวิธีการประดิษฐ์ที่ดีที่สุดเพียงวิธีเดียว หรือหากการประดิษฐ์มีเพียงวิธีเดียว ผู้ขอสามารถระบุได้ว่า ‘’ เหมือนที่กล่าวไว้แล้วในหัวข้อการเปิดเผยการประดิษฐ์โดยสมบูรณ์’’
8. ข้อถือสิทธิ
ข้อถือสิทธิเป็นหัวข้อที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก และสำคัญที่สุดในร่างคำขอรับสิทธิบัตร เนื่องจากเกี่ยวพันกับความคุ้มครองที่จะได้รับ กล่าวคือ สิ่งที่งานประดิษฐ์นี้คุ้มครอง คือสิ่งที่บรรยายไว้ในข้อถือสิทธินั่นเอง
ก่อนอื่น ต้องเข้าใจก่อนว่า ข้อถือสิทธิมี 2 ประเภท ได้แก่
8.1 ข้อถือสิทธิหลัก : จะเป็นข้อถือสิทธิที่ไม่อ้างอิงถึงข้อถือสิทธิอื่น เป็นการเขียนลักษณะงานประดิษฐ์อย่างกว้าง
8.2 ข้อถือสิทธิรอง : จะเป็นการอ้างอิงถึงข้องถือสิทธิหลักที่มีการอธิบายลักษณะเพิ่มเติมจากข้อถือสิทธิหลัก โดยข้อถือ สิทธิรองจะเป็นการอ้างทางเลือกเท่านั้น คืออ้างได้ข้อเดียว ถ้าอ้างหลายข้อต้องใช้คำว่า ‘’หรือ’’ คั่น หรือใช้คำว่า ‘’ข้อใดข้อหนึ่ง’’
รูปแบบการร่างข้อถือสิทธิ
1. ข้อถือสิทธิต้องระบุเป็นข้อ ด้วยเลขอารบิก
2. ข้อถือสิทธิ ต้องระบุลักษณะสำคัญทางเทคนิคของการประดิษฐ์ที่จะขอรับความคุ้มครอง ให้รัดกุม และชัดแจ้ง รวมถึงสอดคล้องกับรายละเอียดการประดิษฐ์
3. ข้อถือสิทธิต้องบรรยายสิ่งที่ต้องการขอรับความคุ้มครองได้อย่างชัดเจน ในผลิตภัณฑ์หรือกรรมวิธี เมื่ออ่านข้อถือสิทธิแล้ว ต้องสามารถเข้าใจได้อย่างชัดเจนว่าต้องการรับความคุ้มครองสิ่งใด โดยต้องระบุส่วนนำของข้อถือสิทธิทุกข้อ และสอดคล้องกับชื่อการประดิษฐ์ด้วย ตัวอย่างเช่น เครื่องคั่วเมล็ดพืช ที่ประกอบด้วย …………………. หรือ วิธีการทำสบูดำ ประกอบด้วยขึ้นตอน…………
4. ในกรณีต้องการขอถือสิทธิผลิตภัณฑ์ ให้บรรยายลักษณะรูปร่างของชิ้นส่วน หรือส่วนประกอบ ความสัมพันธ์เชิงหน้าที่การทำงานแต่ละชิ้น จนผู้อ่านเข้าใจได้อย่างชัดเจน
5. ต้องไม่มีคำที่มีความหมายคลุมเครือ หรือคำที่ต้องตีความเช่น ตัวอย่าง เช่น อาทิ ใดๆ ประมาณ
6. สามารถมีได้มากกว่าหนึ่งข้อ และระบุเลขข้อด้วยเลขอารบิค ซึ่งจะแบ่งเป็นข้อถือสิทธิหลักและข้อถือสิทธิรอง
9. รูปเขียน (ถ้ามี)
ใช้ในการประกอบคำอธิบายของรายละเอียดการประดิษฐ์ เพื่อให้ได้เข้าใจอย่างชัดแจ้งชัดเจนมากขึ้น และต้องเป็นไปตามหลักการเขียนแบบ คือต้องใช้เครื่องมือในการวาดเขียน เป็นเส้นเรียบดำ ห้ามระบายสีหรือเงา และไม่มีคำบรรยายใดๆ




10. บทสรุปการประดิษฐ์
บทสรุป จะเป็นเนื้อหาส่วนที่เปิดเผยเป็นอย่างแรกในการสืบค้นในฐานข้อมูลสิทธิบัตร โดยเป็นการระบุเทคนิคของการประดิษฐ์ที่ขอรับความคุ้มครองโดยย่อ ซึ่งที่เหมาะสมไม่ควรเกิน 200 คำหรือครึ่งหน้ากระดาษ A4 และเพื่อความง่าย เราอาจจะนำหัวข้อ “ลักษณะและความมุ่งหมายของการประดิษฐ์” มาใส่ในบทสรุปการประดิษฐ์ก็ได้
ส่วนประกอบของร่างคำขอสิทธิบัตรเหล่านี้ เมื่อประกอบรวมกันจะได้เป็นร่างคำขอสิทธิบัตร ที่มีส่วนประกอบทีสมบูรณ์ ชัดแจ้ง ชัดเจน ครบถ้วนตามหลักเกณฑการพิจารณาของกรมทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งมีโอกาสที่จะทำให้ผู้ตรวจสอบได้รับจดแจ้งงานประดิษฐ์มากกว่า ร่างคำขอสิทธิบัตรที่ส่วนประกอบไม่ครบตามกรมทรัพย์สินทางปัญญากำหนดได้
การจัดหน้าร่างคำขอรับสิทธิบัตร
นอกเหนือจากเนื้อหาในร่างคำขอที่ต้องครบถ้วน ชัดเจน รัดกุมแล้ว สิ่งที่ผู้ร่างคำขอต้องทำให้ถูกต้องคือ การจัดแบบฟอร์มร่างคำขอ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด โดยผมจะขอสรุปง่ายๆ ดังนี้
1. การใส่เลขหน้า
การใส่เลขหน้าในร่างคำขอ เราจะใช้คำว่า “หน้าที่ … ของจำนวนทั้งหมด … หน้า” โดยเราต้องแบ่งร่างคำขอออกเป็น 4 ตอน และแต่ละตอนจะเริ่มนับหน้า 1 ใหม่ในแต่ละตอน ดังนี้
ตอนที่หนึ่ง รายละเอียดการประดิษฐ์
ตอนที่สอง ข้อถือสิทธิ
ตอนที่สาม บทสรุป
ตอนที่สี่ รูปเขียน
2. การใส่เลขบรรทัด
ถัดมาคือการใส่เลขบรรทัด ในการใส่เลขบรรทัด เราต้องใส่เลขบรรทัด ทุกๆ 5 บรรทัด ดังแสดงตามตัวอย่าง
! ห้ามมีเลขบรรทัด ในบรรทัดที่ไม่มีตัวอักษรเด็ดขาด
จ้างที่ปรึกษาร่างคำขอ ดีอย่างไร?
สำหรับใครที่ไม่อยากวุ่นวายในการเตรียมเอกสาร และการร่างคำขอ การจ้างที่ปรึกษาก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่สามารถช่วยได้ เพราะร่างคำขอรับสิทธิบัตร ไม่ได้มีแค่การใส่เนื้อหาลงไปเท่านั้น แต่ร่างคำขอที่ดี ต้องประกอบไปด้วยกลยุทธ์ความคุ้มครองที่เหมาะสม ไม่แคบเกินไปจะคนอื่นดัดแปลงได้โดยง่าย หรือไม่กว้างเกินไปจนไม่สามารถจดทะเบียนได้ นอกจากนี้ ยังต้องคลอบคลุมการดัดแปลงแก้ไข และคุ้มครองหัวใจสำคัญของงานประดิษฐ์ไว้ด้วย ซึ่งที่ปรึกษาที่เชี่ยวชาญ จะสามารถช่วยดูแลในส่วนนี้ได้เป็นอย่างดี
อีกทั้ง ที่ปรึกษาหลายที่ ยังมีบริการสืบค้น และวิเคราะห์คำขอสิทธิบัตรที่เคยยื่นจดทะเบียนไว้ก่อนลงมือร่าง เพื่อช่วยป้องกันโอกาสที่จะเหมือนหรือคล้ายกับงานก่อนหน้า และใช้เป็นเอกสารอ้างอิงในการร่างคำขอให้มีจุดที่แตกต่างกัน เพื่อเพิ่มโอกาสการรับจดทะเบียนด้วย
บทสรุป
การร่างคำขอสิทธิบัตร เพื่อขอรับสิทธิบัตรนั้น ต้องอาศัยความพิถีพิถันและรอบคอบ ในการเขียนบรรยายสิ่งที่เราประดิษฐ์และต้องการขอรับความคุ้มครอง โดยในการเขียนนั้นนอกจากต้องถูกต้องตามแบบฟอร์มทั้งการจัดเรียงหน้าและเลขบรรทัดแล้ว ยังต้องเขียนให้ถูกต้องตามแต่ละหัวข้อ ซึ่งประกอบไปด้วย ชื่อการประดิษฐ์, สาขาวิทยาการที่เกี่ยวข้อง, ภูมิหลังการประดิษฐ์, ลักษณะและความมุ่งหมาย, การเปิดเผยการประดิษฐืโดยสมบูรณ์, รูปเขียน, ข้อถือสิทธิและบทสรุป นอกจากนี้ การใส่กลยุทธ์ในการคุ้มครองที่เหมาะสมลงไปในร่างคำขอถือเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก โดยคำขอจดทะเบียนสิทธิบัตรจะต้องไม่แคบเกินไปจนสามารถดัดแปลงแก้ไขได้โดยง่าย และไม่กว้างเกินไปจนไม่สามารถรับจดทะเบียนได้เนื่องจากไม่มีความใหม่
อ่านเพิ่มเติม
– คู่มือการร่างคำขอ : กรมทรัพย์สินทางปัญญา