สำหรับคนที่อยากเริ่มต้นทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจ SME หรือองค์กรขนาดใหญ่ นอกจากความรู้เรื่องธุรกิจที่ทำจะต้องมีความเชี่ยวชาญแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ควรให้ความสำคัญเช่นกัน คือเรื่องของการจดแจ้งลิขสิทธิ์ในผลงานหรือสินค้าของบริษัท เพราะการจดลิขสิทธิ์นั้นจะส่งผลดีต่อการทำงานภายในองค์กรของคุณในระยะยาว 

มาทำความรู้จักและเห็นถึงความสำคัญของการจดแจ้งลิขสิทธิ์ว่าคืออะไร รวมถึงมารู้กันว่าหากต้องการจดแจ้งลิขสิทธิ์ กฎหมายจะครอบคลุมสินค้าแบบไหนบ้าง? และหากถูกละเมิดเราจะสามารถปกป้องสิทธิ์ของเราได้อย่างไร? มาหาคำตอบกันได้ในบทความนี้    

ลิขสิทธิ์ คืออะไร?

ลิขสิทธิ์ (Copyright) คือทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่ง ที่ผู้สร้างสรรค์ใช้สติปัญญา ความรู้ หรือความคิด ในการสร้างผลงานขึ้นมา และได้นำหลักฐานในการทำงานไปจดแจ้งลิขสิทธิ์ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อรับรองว่าตนเองเป็นเจ้าของสิทธิ์ในผลงานที่แจ้งไว้ และผลงานนั้นจะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์ 

ในปัจจุบันมีผลงานที่ต้องการจดแจ้งลิขสิทธิ์อยู่เป็นจำนวนมาก แต่ไม่ใช่ว่าผลงานทุกประเภทจะได้สามารถจดลิขสิทธิ์ได้ โดยประเภทของผลงานที่ได้รับการคุ้มครองจะมีดังนี้  

ประเภทผลงานที่เป็นลิขสิทธิ์

  ในพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ได้นิยามประเภทผลงานที่เป็นลิขสิทธิ์เอาไว้ดังนี้

  1. งานวรรณกรรม เช่น หนังสือ จุลสาร สิ่งเขียน สิ่งพิมพ์ คำปราศรัย สุนทรพจน์ โปรแกรมคอมพิวเตอร์
  2. งานนาฏกรรม เช่น งานที่เกี่ยวกับการรำ การเต้น การทำท่า หรือการแสดงที่ประกอบเป็นเรื่องราว รวมถึงการแสดงละครใบ้
  3. งานศิลปกรรม เช่น งานจิตรกรรม งานประติมากรรม งานภาพพิมพ์ งานสถาปัตยกรรม งานภาพถ่าย งานภาพประกอบ และงานศิลปประยุกต์
  4. งานดนตรีกรรม เช่น งานเกี่ยวกับเพลงที่แต่งขึ้นเพื่อบรรเลงหรือขับร้อง รวมถึงโน้ตเพลงหรือแผนภูมิเพลงที่แยกและเรียบเรียงเสียงประสานแล้ว
  5. งานสิ่งบันทึกเสียง เช่น งานประกอบด้วยเสียงดนตรี เสียงการแสดง หรือเสียงอื่นใด โดยได้มีการบันทึกข้อมูลเสียง ที่สามารถนำมาเล่นซ้ำได้
  6. งานโสตทัศนวัสดุ เช่น งานที่ประกอบด้วยลำดับภาพ โดยที่บันทึกลงในวัสดุใด ๆ ที่สามารถนำมาเล่นซ้ำได้อีก
  7. งานภาพยนตร์ เช่น โสตทัศนวัสดุอันประกอบด้วยลําดับของภาพ ซึ่งสามารถนําออกฉายต่อเนื่องได้
  8. งานแพร่ภาพและเสียง เช่น งานที่นำออกสู่สาธารณชน โดยการแพร่เสียงทางวิทยุ การแพร่เสียงและภาพทางโทรทัศน์
  9. นักแสดง เช่น ผู้แสดง นักดนตรี นักร้อง นักเต้น นักรำ และผู้ที่แสดงท่าทาง ร้อง กล่าว พากย์ หรือแสดงตามบท

ประเภทผลงานที่ไม่ถือเป็นลิขสิทธิ์

  ในพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ได้นิยามประเภทผลงานที่ไม่เป็นลิขสิทธิ์ไว้ดังนี้

  1. ข่าวประจำวันและข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร
  2. รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
  3. ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
  4. คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
  5. รวมถึงคำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตามข้อ 1 – 4

สิทธิในลิขสิทธิ์ของเจ้าของผู้จดแจ้งสามารถทำได้

  สำหรับผลงานที่เจ้าของลิขสิทธิ์เป็นผู้นำไปจดแจ้ง จะเป็นเพียงผู้เดียวที่สามารถกระทำการใด ๆ กับผลงานลิขสิทธิ์ของตนเองได้ โดยมีอยู่ 6 รูปแบบด้วยกัน 

  1. การทำซ้ำ คือการนำผลงานไปคัดลอก ทำการเลียนแบบ จัดการพิมพ์ หรือบันทึกภาพใหม่
  2. การดัดแปลง คือการนำผลงานไปทำการปรับปรุง เปลี่ยนรูปแบบ หรือแก้ไขเพิ่มเติม โดยไม่ใช่การนำไปจัดทำขึ้นมาใหม่
  3. การเผยแพร่ต่อสาธารณะ คือการนำผลงานไปปรากฏหรือแสดงต่อสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นการแสดง การบรรยาย การบรรเลง ที่เป็นการทำให้ปรากฏด้วยเสียงและหรือภาพก็ตาม
  4. การให้เช่าหรือทำสำเนา คือการนำผลงานไปให้เช่าหรือทำสำเนา ในรูปแบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ และสิ่งบันทึกเสียง เท่านั้น
  5. การทำให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น คือการนำผลงานไปทำให้เกิดประโยชน์แก่ผู้อื่นได้ โดยสามารถกำหนดกฎเกณฑ์เพิ่มได้ตามที่เจ้าของลิขสิทธิ์ต้องการ
  6. อนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิ์ คือการที่เจ้าของลิขสิทธิ์อนุญาตให้ผู้อื่นใช้งานลิขสิทธิ์ของตนเองแทนได้

ลิขสิทธิ์ Vs เครื่องหมายการค้าต่างกันอย่างไร?

ลิขสิทธิ์ เป็นสิ่งคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ในรูปแบบของงานหรือความคิดสร้างสรรค์ โดยจะให้สิทธิกับผู้สร้างสรรค์เพียงคนเดียวที่จะสามารถกระทำการใด ๆ กับผลงานนั้นก็ได้ ในขณะที่ เครื่องหมายการค้า เป็นสิ่งที่คุ้มครองชื่อ ยี่ห้อ แบรนด์ ตราสินค้า เครื่องหมาย สัญลักษณ์ที่ใช้กับสินค้า เพื่อแสดงความแตกต่างจากสินค้าอื่นและป้องกันไม่ให้ผู้อื่นมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นวัตถุประสงค์ใด ๆ ก็ตาม 

หากถูกละเมิดลิขสิทธิ์ต้องทำอย่างไร?

หากมีการละเมิดสิทธิ์เกิดขึ้น เจ้าของลิขสิทธิ์ต้องเตรียมเอกสารส่วนตัว หลักฐานการสร้างสรรค์ผลงาน หรือหลักฐานที่แสดงความเป็นเจ้าของ รวมถึงตัวอย่างงานที่ได้รับการละเมิด โดยสามารถรวบรวมและนำไปทำการร้องทุกข์กับเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ 

  • กรณีที่เสียหายต่อชื่อเสียง เตรียมหลักฐานที่พบว่ามีการกระทำความผิดไปแจ้งความ ณ สถานีตำรวจท้องที่ที่เกิดเหตุ
  • กรณีที่เสียหายต่อทรัพย์ เตรียมหลักฐานที่พบการกระทำความผิด การหลอกลวง หลักฐานการโอนเงิน และไปแจ้งความ ณ สถานีตำรวจท้องที่ที่เกิดเหตุ

หากคุณเป็นหนึ่งในเจ้าของธุรกิจมือใหม่ ที่มีข้อสงสัยหรือต้องการใช้บริการเกี่ยวกับการจดลิขสิทธิ์ ATP Serve เราคือผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมให้คำปรึกษา เรามีบริการด้านลิขสิทธิ์แบบครบวงจร สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจทุกประเภท ในราคาที่เหมาะสม สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมหรือติดต่อเราได้ที่ contact@atpserve.com