ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ฉบับที่ 5 เพิ่งจะมีผลบังคับใช้หลังจากที่ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม โดยเหตุผลของการออกพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฉบับดังกล่าวขึ้นนั้น เนื่องจากในปัจจุบัน การละเมิดงานอันมีลิขสิทธิ์มีเพิ่มมากขึ้นอย่างเป็นนัยสำคัญ โดยเฉพาะการละเมิดในพื้นที่ออนไลน์ซึ่งสามารถทำได้ง่าย จึงจะต้องมีการปรับปรุงบทบัญญัติให้มีความสอดคล้องกับเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น โดยในที่นี้ เราจะมาอธิบายถึงสาระสำคัญของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฉบับที่ 5 ว่ามีส่วนใดเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมบ้าง
สารบัญ
การขยายระยะเวลาในการคุ้มครองงานภาพถ่าย
งานภาพถ่ายนั้น เป็นงานจำพวกหนึ่งในงานศิลปกรรม แต่อย่างไรก็ดีแต่เดิมแล้วงานภาพถ่ายนั้นไม่มี อายุความคุ้มครองเช่นเดียวกับงานศิลปกรรมอื่นๆ โดยมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ งานภาพถ่าย งานโสตทัศนวัศดุ งานสิ่งบันทึกเสียง งานแพร่เสียงแพร่ภาพ ให้มีอายุห้าสิบปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น หรือห้าสิบปีนับแต่วันที่มีการโฆษณาในกรณีที่มีการโฆษณา แต่ในปัจจุบัน มาตรา21 ได้ตัดความคุ้มครองของงานภาพถ่ายออก ส่งผลให้งานภาพถ่ายได้รับอายุความคุ้มครองตามมาตรา 19 ได้แก่ จะได้รับความคุ้มครองตลอดอายุของผู้สร้างสรรค์ และได้รับความคุ้มครองต่อไปอีก 50 ปีนับแต่วันที่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย
ความรับผิดของผู้ให้บริการ
อาจกล่าวได้ว่า บทยกเว้นความรับผิดของผู้ให้บริการเป็นเรื่องหลักที่มีการเปลี่ยนแปลงใน พ.ร.บ. ฉบับใหม่นี้ โดยเพื่อความเข้าใจ เราอาจต้องอธิบายถึง หลักเกณฑ์ในเรื่องของการยกเว้นความรับผิดของผู้ให้บริการเดิม ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ ฉบับที่ 2 เสียก่อน จึงจะอธิบายถึงความเปลี่ยนแปลงในขั้นถัดไป
1. พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ฉบับที่ 2
ในการอธิบายถึง บทยกเว้นความรับผิดของผู้ให้บริการ จำเป็นที่จะต้องอธิบายภาพรวมของหลักในการยกเว้นความรับผิดเสียก่อน โดยอาจเริ่มจากส่วนที่ว่า การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่เกิดขึ้นได้ง่ายที่สุด คือการละเมิดงานลิขสิทธิ์ ยิ่งด้วยเทคโนโลยีปัจจุบัน การละเมิดจึงสามารถทำได้ง่ายยิ่งขึ้น ใช้เวลาที่เร็วขึ้น และมีจำนวนมากขึ้นจนเกินความควบคุม กฏหมายจึงเข้ามากำหนดหลักเกณฑ์เพื่อควบคุมมการละเมิดลิขสิทธิ์ในพื้นที่ดิจิทัลหรือพื้นที่ออนไลน์ โดยการวางหลักเกณฑ์ให้ผู้ให้บริการนำเนื้อหาที่ทำการละเมิดลิขสิทธิ์ออกจากระบบหรือปิดกั้นไม่ให้มีการเข้าถึงเนื้อหาดังกล่าว เพื่อแลกกับการยกเว้นความรับผิดของผู้ให้บริการ เปรียบเสมือนเป็นดังพื้นที่ปลอดภัยของผู้ให้บริการ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อที่เรียกว่า “safe harbor”
เรื่องของความรับผิดของผู้ให้บริการนั้น แต่เดิมได้ถูกกำหนดไว้ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฉบับที่ 2 โดยได้กำหนดนิยามของผู้ให้บริการว่าหมายถึงผู้ให้บริการในการเข้าสู่อินเทอร์เน็ตและผู้เก็บรักษาข้อมูลคอมพิวเตอร์ และในกรณีที่เจ้าของงานอันมีลิขสิทธิ์พบว่ามีเนื้อหาซึ่งเมิดงานอันมีลิขสิทธิ์ของตนอยู่ในระบบหรือพื้นที่ให้บริการ เจ้าของงานอาจส่งคำร้องให้ศาลพิจารณาเพื่อให้มีคำสั่งนำเนื้อหาที่ละเมิดดังกล่าวออกจากระบบได้ ทั้งนี้เมื่อขึ้นชื่อเวลาเป็นการพิจารณาของศาล การพิจารณาคำร้องจึงมีระยะเวลาที่ค่อนข้างนาน ซึ่งจะมีผลเสียต่อเจ้าของงานอันมีลิขสิทธิ์เดยตรง เพราะด้วยระยะเวลาในการพิจารณาคำขอ อาจทำให้สายเกินไปที่จะทำการระงับการละเมิดนั้นได้ รู้ตัวอีกที เนื้อหาที่มีการละเมิดนั้น ก็อาจแพร่กระจายไปในทุกๆที่ของอินเทอร์เน็ตแล้วก็ได้
2. พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ฉบับ 5
ด้วยเหตุนี้ ใน พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ฉบับที่ 5 จึงได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนของข้อยกเว้นความรับผิดของผู้ให้บริการ โดยเปลี่ยนจากการส่งคำขอให้ศาลพิจารณาเพื่อนำงานออกจากระบบ เป็นการส่ง Notice ไปยัง ตัวผู้ให้บริการโดยตรง เพื่อให้นำงานออกจากระบบทันที ซึ่งมีความรวดเร็วกว่าการส่งคำขอให้ศาลพิจารณาอย่างแน่นอน โดยการ Notice นั้น กฏหมายใหม่ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์รวมถึงรายละเอียดที่ต้องระบุไว้อย่างชัดเจน เพื่อให้ผู้ให้บริการสามารถเข้าใจและนำงานออกจากระบบได้ หากไม่ได้ระบุรายละเอียดเอาไว้อย่างครบถ้วน ผู้ให้บริการก็ไม่จำเป็นที่จะต้องนำงานออกจากระบบ นอกจากนี้ยังได้มีการเพิ่มเติมรายละเอียดอื่นๆ เช่นการเพิ่มนิยามของผู้ให้บริการ และลักษณะของผู้ให้บริการในเบื้องต้นที่จะสามารถเข้าเกณฑ์ในการยกเว้นความรับผิดได้ เช่น จะต้องไม่ใช่ผู้รับ-ส่งข้อมูลเองเป็นต้น
ทั้งนี้หากคุณกำลังประสบปัญหาการถูกละเมิดลิขสิทธิ์ มีคนนำงานของคุณไปใช้ หรือเผยแพร่ โดยไม่ได้รับอนุญาต อย่าปล่อยให้สายเกิดแก้ไข หากคุณมีปัญหาด้านลิขสิทธิ์สามารถติดต่อเพื่อปรึกษาเราได้ทันที