คำว่า copyright หรือลิขสิทธิ์นั้นเป็นคำที่เชื่อว่าทุกคนคงจะคุ้นเคยกันดี เพราะลิขสิทธิ์เป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่งที่อยู่ใกล้ตัวเรามากที่สุด แต่ถ้าพูดถึงคำว่า กอปปี้เลฟต์ ( copyleft ) แล้ว คิดว่าคงมีคนที่ไม่เคยได้ยินคำนี้อยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว เผลอๆ จะคิดว่าเป็นคำล้อเลียน copyright ด้วยซ้ำไป

แม้จะฟังดูเหมือนเรื่องล้อเล่น แต่คำว่าcopyleft นั้นมีอยู่จริง และยังเป็นการคุ้มครองทรัพย์ทางปัญญารูปแบบหนึ่งอีกด้วย

สารบัญ

copyleft คืออะไร?

copyleftเป็นการคุ้มครองผลงานในรูปแบบหนึ่ง ซึ่งผลงานที่มีการคุ้มครองแบบดังกล่าว นั้นสามารถนำไปแก้ไขดัดแปลงได้อย่างอิสระ หรือแม้แต่จะนำไปหารายได้ก็สามารถทำได้ แต่ผลงานใหม่ที่เกิดขึ้นมาจะต้องอยู่ในรูปแบบการคุ้มครองแบบ copyleftเหมือนกับผลงานต้นฉบับ เพื่อป้องกันไม่ให้ผลงานที่ถูกแจกจ่ายถูกจำกัดสิทธิ์การใช้งานในอนาคต

copyleft นั้นคล้ายกับ public domain ตรงที่อนุญาตให้มีการนำผลงานไปแก้ไข ดัดแปลง หารายได้จากผลงานได้อย่างอิสระ แต่จะให้เจ้าของสร้างเงื่อนไขด้านลิขสิทธิ์บางประการได้ ทำให้ผู้ที่ต้องการจะใช้ประโยชน์จากผลงานนั้นต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขนั้น ไม่อย่างนั้นจะถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์

เรามักจะพบผลงานที่มีการคุ้มครองแบบกอปปี้เลฟต์ในงานประเภทซอฟต์แวร์ งานศิลปะ การค้นพบทางวิทยาศาสตร์ หรือแม้แต่สิทธิบัตร ซึ่งโดยส่วนมากงานดังกล่าวจะใช้ในงานที่แจกจ่ายให้ใช้ฟรี และต้องการให้งานนั้นฟรีตลอดไป

ที่มาของ copyleft

คำว่า กอปปี้เลฟต์ ปรากฏครั้งแรกใน Palo Alto Tiny BASIC ซึ่งเป็น Source code ที่พัฒนาโดย Li-Chen Wang ในปี 1976 โดยเป็นข้อความที่เขาใส่ลงไปว่า @copyleft All Wrongs Reserved แต่ว่าก็เป็นแค่อารมณ์ขันของเขาเท่านั้น ยังไม่ใช่การคุ้มครองแบบกอปปี้เลฟต์เลยด้วยซ้ำ แต่ถึงอย่างนั้น Li-Chen Wang ก็สนับสนุนให้นักพัฒนาคนอื่นๆ นำ Source code ของเขาไปพัฒนาต่อได้

คอนเซปต์ของกอปปี้เลฟเกิดขึ้นครั้งแรกในปี 1985 โดย Richard Stallman เขาเป็นโปรแกรมเมอร์ที่พัฒนาโปรแกรมแปลภาษา Lisp (Lisp interpreter) ขึ้นมา เขาได้ให้สิทธิ์ในการพัฒนาต่อแก่บริษัท Symbolics ซึ่งได้มาติดต่อขอสิทธิ์พัฒนากับเขา โดยเขาได้ให้สิทธิ์เป็นแบบ public domain หรือสมบัติสาธารณะ แต่เมื่อบริษัท Symbolics พัฒนาโปรแกรมจนใช้งานได้ดีขึ้นกลับปฏิเสธไม่ให้ Richard Staller นำกลับไปพัฒนาต่อ

จากเหตุการณ์นั้นทำให้เขาเริ่มทำงานที่เกี่ยวกับ Software sharing และสร้างสัญญาอนุญาตในรูปแบบของเขาเองขึ้นมา โดยใช้ชื่อว่า Emacs General Public License และได้มีการพัฒนามาเรื่อยๆ จนกลายเป็น GNU General Public License (GPL) ซึ่งได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในปัจจุบันบนโปรแกรมที่พัฒนาแบบ Open source

สรุป

copyleftอาจเป็นคำที่หลายคนไม่คุ้นเคย แถมยังดูเหมือนคำล้อเลียน copyright แต่ copyleftนั้นก็เป็นการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอย่างหนึ่งที่สำคัญ โดยเฉพาะในแวดวงการพัฒนาโปรแกรมที่มีการใช้งาน Source code แบบ Open source กัน

ปรึกษาฟรี การจดแจ้งลิขสิทธิ์

ติดต่อเรา
ติดต่อเรา

อ้างอิง