สิทธิบัตรอาหาร อยากจดต้องทำอย่างไร? สืบเนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องความหลากหลายของอาหาร ทั้งของหวาน ของคาว ล้วนเป็นที่ถูกปากของชาวต่างชาติ แน่นอนว่าย่อม เชฟ หรือคนทั่วไปต้องมีสูตรอาหารเฉพาะตัวมากมายที่ต้องการจดเป็นสิทธิบัตร
คำถามสำคัญสำหรับบทความนี้ที่จะพาทุกท่านไปร่วมค้นหาคำตอบคือ สูตรอาหาร สามารถจดสิทธิบัตรได้หรือไม่? ถ้าจะจดสูตรอาหาร เพื่อคุ้มครองสูตรอาหาร ต้องทำอย่างไร? วันนี้ผมจะมาเล่าให้ฟัง
สารบัญ
ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ สิทธิบัตรอาหาร
ก่อนอื่นต้องรู้จักทรัพย์สินทางปัญญาที่คุ้มครองงานประดิษฐ์ ประเภท สูตร กรรมวิธีการผลิตก่อน นั่นก็คือ สิทธิบัตร อย่างที่หลายท่านอาจจะทราบกันดีอยู่แล้ว หากต้องการคุ้มครองสูตรอาหาร ต้องทำการจดสิทธิบัตร
ทั้งนี้ ความเข้าใจผิดที่หลายคนมักเข้าใจกันก็คือ การจดสิทธิบัตรสูตรอาหาร หมายถึงห้ามคนอื่นทำอาหารชนิดนั้นโดยเด็ดขาด เช่น พอบอกว่า มีคนจดสิทธิบัตรสูตรผัดกะเพรา ก็เข้าใจกันว่า เราจะไม่สามารถทำผัดกะเพราได้อีกแล้ว ซึ่งในความจริงแล้วไม่ใช่อย่างนั้น
การจด สิทธิบัตรอาหาร จะให้ความคุ้มครองแค่เพียงสูตรอาหารที่เปิดเผยในสิทธิบัตรเท่านั้น ไม่ได้หมายรวมถึงชนิดของอาหารทั้งชนิด (แน่นอนว่า อาหารชนิดเดียวกันก็มีสูตรที่แตกต่างกันมากมาย)
การจดสูตรอาหาร ในฐานะสิทธิบัตร ผู้ขอรับสิทธิต้องแลกความคุ้มครองมาด้วยการเปิดเผยสูตรสู่สาธารณะ เช่น ต้องระบุว่ามีการใส่ ส่วนประกอบอะไรบ้าง ในสัดส่วนเท่าไหร่ และความคุ้มครองก็จะให้ความคุ้มครองแค่ส่วนประกอบในช่วงที่เปิดเผยในสิทธิบัตรเท่านั้น
หลักการประเมินความใหม่ของสูตรอาหาร
จากหัวข้อข้างต้น การจดสูตรอาหารจำเป็นต้องมีการเปิดเผยรายละเอียดสูตร ส่วนประกอบ สัดส่วน เพื่อแลกกับความคุ้มครอง ซึ่งหลักเกณฑ์ในการประเมินความใหม่ของ สิทธิบัตรอาหาร ก็จะพิจารณาองค์ประกอบเหล่านั้น ว่ามีความแตกต่างกันกับงานประดิษฐ์ที่มีอยู่ก่อนหน้า รวมถึงงานประดิษฐ์ในฐานข้อมูลสิทธิบัตรมากน้อย อย่างไร
ความแตกต่างหลักที่สำคัญ ที่จะทำให้มีความใหม่ในการจดคุ้มครองสูตรอาหาร ก็คือ
1. ส่วนประกอบต่างกัน เช่น ผัดกะเพราของคนอื่นใส่ถั่วฝักยาว ของเราใส่ข้าวโพดอ่อน ซึ่งถ้าไม่เคยมีคนใส่ข้าวโพดอ่อนมาก่อน ของเราก็ถือว่ามีความใหม่
2. สัดส่วนต่างกัน เช่น ผัดกะเพราของคนอื่นใส่น้ำตาล 1 กรัม ของเราใส่ 5 กรัม ก็ถือว่ามีความใหม่
3. สภาวะต่างกัน เช่น ผัดกะเพราของคนอื่นผัดที่อุณหภูมิ 80 องศา ของเราผัดที่อุณหภูมิ 90 องศา
4. กระบวนการต่างกัน เช่น ผัดกะเพราะคนอื่นอุ่นกระทะให้ร้อนก่อนใส่วัตถุดิบลงไปคลุกกัน ของเรานำวัตถุดิบไปคลุกกับเครื่องปรุงผ่อนนำไปผัด
ทั้งหมดเหล่านี้ ถือเป็นรายละเอียดที่ต้องเปิดเผยใน สิทธิบัตรอาหาร ซึ่งเราจะเห็นได้ว่า มีรายละเอียดปลีกย่อยมากมายที่จะทำให้งานประดิษฐ์สูตรอาหารเดียวกันนั้น สามารถแตกต่างกันได้ ฉะนั้นหลังจากนี้ ถ้ามีคนบอกว่าจดสูตรอาหารไปแล้ว ก็อย่าพึ่งตกใจ เพราะสูตรที่เราทำอยู่อาจจะแตกต่างและอาจจะจดได้เหมือนกัน
การคุ้มครองสูตรอาหาร ด้วยสิทธิบัตร เป็นสิ่งจำเป็นไหม?
การจดสูตรอาหาร ต้องแลกมากับการเปิดเผยงานประดิษฐ์ ซึ่งพอเป็นสูตรอาหารเฉพาะแล้ว ย่อมหมายถึงช่องทางการทำธุรกิจของหลายคนเลยทีเดียว ดังนั้น จึงเกิดคำถามขึ้นว่า ถ้าต้องการคุ้มครองสูตรอาหาร การจดสิทธิบัตร คือทางออกเดียวจริงหรือ?
หลักการสำคัญ ที่ต้องคำนึงถึง ถ้าหากคิดจะจดคุ้มครองสูตรอาหาร ก็คือ
สูตรอาหารของเรานั้นสามารถลอกเลียนแบบได้ง่ายหรือไม่?
เริ่มจากการถามก่อนว่า สูตรอาหารของเรา ใครที่เห็นก็ทำตามได้ทันทีเลยหรือไม่ ถ้าใช่ แน่นอนว่ากำแพงในการแข่งขันนั้นบอบบางมาก เราจำเป็นต้องใช้สิทธิบัตร เป็นเครื่องมือในการช่วยป้องกันคู่แข่งที่จะเข้ามาทำสูตรอาหารเดียวกับเรา
การเปิดเผย หรือไม่เปิดเผย ส่งผลกระทบต่อการทำธุรกิจของเรามากน้อยแค่ไหน ต่างกันอย่างไร
คำถามถัดมาคือ ถ้าเราเปิดเผยไป คนอื่นอาจไม่สามารถทำตามสูตรเดียวกับเราได้ก็จริง แต่ถ้าหากดัดแปลงแล้วผลลัพธ์ใกล้เคียงกันหรือไม่ สิทธิบัตรดังกล่าว สามารถสร้างพื้นที่ทางการแข่งขันให้เราได้จริงไหม เป็นเรื่องที่เราต้องชั่งใจถึงประโยชน์ที่จะได้รับ
การเปิดเผยสูตรเพียงบางส่วน จะยังคงทำให้งานเรามีความใหม่เพียงพอต่อการได้รับจดทะเบียนหรือไม่
ทางที่ดีที่สุดของการจดสูตรอาหาร คือการเปิดเผยเพียงบางส่วน โดยเก็บสาระสำคัญ หรือที่เรียกว่า “สูตรลับ” เอาไว้ เท่ากับว่า เราจะสามารถคุ้มครองคนอื่นมาทำเหมือนคล้ายได้ และต่อให้เปิดเผย ก็ไม่ได้รสชาติหรือคุณภาพเทียบเท่าของเรา เพราะได้ส่วนประกอบไปไม่ครบนั่นเอง
แต่การจะทำแบบนั้นได้ การเปิดเผยเพียงบางส่วน ต้องดูสิทธิบัตรก่อนหน้าและงานที่เปิดเผยอยู่ก่อนหน้าด้วยว่าเหมือนหรือคล้ายหรือไม่ ถ้าเหมือนคล้าย เราก็ต้องระบุให้เฉพาะมากยิ่งขึ้น ซึ่งอาจจะทำให้จำเป็นต้องเปิดเผยส่วนประกอบสำคัญ เพื่อให้ได้ความใหม่
การคุ้มครองสูตรอาหารในฐานะ ความลับทางการค้า
การคุ้มครองสูตรอาหารที่บริษัทส่วนใหญ่นิยมทำกันคือ การเก็บเป็นความลับทางการค้า ถ้าจะให้ยกตัวอย่างความลับทางการค้าที่สำคัญ เช่น สูตรน้ำโค้ก สูตรเฟร้นฟรายแมคโดนัล เป็นต้น ซึ่งการคุ้มครองความลับทางการค้าของสูตรอาหารนั้น จะมีอายุไม่จำกัด ตราบเท่าที่สูตรนั้นยังคงเป็นความลับอยู่
ความลับทางการค้า จะให้ความคุ้มครองเจ้าของสูตรอาหาร ในกรณีมีคนขโมยหรือนำความลับไปเปิดเผย แต่ไม่คุ้มครอง กรณีมีคนอื่นสามารถคิดค้นได้เองและนำไปจดสิทธิบัตร ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องกลับไปถามคำถามตัวเองว่า สูตรของเราลอกเลียนได้ง่ายหรือไม่ ถ้ายากก็เก็บเป็นความลับทางการค้า ถ้าง่ายก็ต้องดูผลเสียทางธุรกิจว่า ถ้าเปิดเผยเปรียบเทียบกับการไม่ได้รับความคุ้มครองเป็นอย่างไร และดูต่อไปว่าถ้าเปิดเผยแล้ว จะสามารถเปิดเผยได้มากหรือน้อยแค่ไหนนั่นเอง
สรุป
สิทธิบัตรสูตรอาหาร เป็นสิทธิบัตรที่ผู้ประดิษฐ์ต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน เพราะการจดสิทธิบัตรต้องแลกมาด้วยการเปิดเผยสาระสำคัญ ส่วนประกอบ สัดส่วน ซึ่งอาจจะทำให้คนอื่นสามารถรู้สูตรของเราได้ ดังนั้นผู้ประดิษฐ์จึงต้องพิจารณาให้รอบด้าน ตั้งแต่ความง่ายในการลอกเลียนแบบ ผลกระทบทางธุรกิจ และขอบเขตการเปิดเผยเพื่อให้ได้รับความใหม่
เพิ่มเติม
กรณีต่างชาติจดสูตรแกงเขียวหวาน – กินเปลี่ยนโลก