กฎหมายสิทธิบัตร ฉบับแรกของไทยประกาศใช้เมื่อปี พ.ศ.2522 แล้วหลังจากนั้นก็มีการจดสิทธิบัตรในประเทศไทยกันเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน แต่รู้หรือไม่ว่า สิทธิบัตรฉบับแรก ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนในประเทศไทยคืออะไร

สารบัญ

ความเป็นมาของ กฎหมายสิทธิบัตร

สิทธิบัตรที่เราคุ้นเคยกันดีในปัจจุบันนั้น มีที่มาย้อนกลับไปได้หลายร้อยปี โดยในสมัยก่อนสิทธิบัตรจะอยู่ในรูปแบบของสิทธิพิเศษที่กษัตริย์ให้แก่ผู้ที่ประดิษฐ์คิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น กังหันลม เครื่องจักรทอผ้า เป็นต้น

กฎหมายสิทธิบัตร ที่เป็นลายลักษณ์อักษรฉบับแรกของโลกคือ กฎหมายสิทธิบัตรของสาธารณรัฐเวนิซ (Venetian Patent Statute) ซึ่งประกาศใช้ในปี 1474 โดยใจความสำคัญในกฎหมายคือ จะมอบสิทธิบัตรให้แก่อุปกรณ์ที่มีความใหม่และมีประโยชน์ และต้องไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งกลายมาเป็นรากฐานของกฎหมายสิทธิบัตรในปัจจุบัน

ในปี 1623 รัฐสภาอังกฤษได้ออกกฎหมายว่าด้วยการผูกขาด ได้ยกเลิกสิทธิพิเศษผูกขาดต่างๆในผลิตภัณฑ์ที่ผู้ประดิษฐ์คิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ได้รับจากกษัตริย์เกือบทั้งหมด โดยคงเหลือไว้แค่สิทธิพิเศษสำหรับผู้ประดิษฐ์คิดค้นสินค้าใหม่ให้สามารถผลิตสินค้านั้นในช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น เนื่องจากก่อนหน้านี้กษัตริย์ได้ให้สิทธิบัตรแก่สินค้าเกือบทุกอย่างเพื่อหาเงินเข้ากระเป๋า แม้แต่สินค้าทั่วไปอย่างเช่นเกลือก็มีการให้สิทธิบัตร ทำให้ประชาชนทั่วไปเดือดร้อนกันมาก ซึ่งการกำหนดระยะเวลาในการผูกขาดตัวสินค้าก็ได้กลายเป็นรากฐานของกฎหมายสิทธิบัตรทั้งในอังกฤษและประเทศอื่นๆ เช่นกัน

การต่อสู้ทางกฎหมายในเรื่องของสิทธิบัตรเครื่องจักรไอน้ำของเจมส์ วัตต์ ในช่วงปี 1796 ได้สร้างแนวคิดที่ว่า ควรออกสิทธิบัตรให้แก่การพัฒนาเครื่องจักรที่มีอยู่แล้ว และแนวคิดหรือไอเดียที่ยังไม่มีการทดลองใช้งานจริง ซึ่งก็ส่งผลมาถึงกฎหมายสิทธิบัตรในปัจจุบัน

สิทธิบัตรฉบับแรก (การประดิษฐ์) ของไทย คือ?

สิทธิบัตรการประดิษฐ์ชิ้นแรกในไทย คือสิทธิบัตรการประดิษฐ์ หมายเลข 42 กลไกประกอบพิมพ์ดีดตั้งโต๊ะพิมพ์ได้ทั้งไทย – อังกฤษ ของคุณอุดม อุดมผล ซึ่งได้รับการจดทะเบียนเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2525 โดยเป็นการคิดค้นเครื่องพิมพ์ดีดตั้งโต๊ะที่สามารถพิมพ์ได้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษในเครื่องเดียวกัน เนื่องจากเครื่องพิมพ์ดีดตั้งโต๊ะในสมัยนั้นสามารถพิมพ์ได้แค่ภาษาเดียว

patent-law

สิทธิบัตรฉบับแรก (การออกแบบ) ของไทย คือ?

ทางด้านสิทธิบัตรออกแบบฉบับแรกของไทยนั้นก็น่าสนใจมาก เพราะ สิทธิบัตรชิ้นแรก ที่ได้รับการจดทะเบียนการออกแบบในไทยก็คือ ไม้จิ้มฟัน โดยผู้ออกแบบคือ คุณจรัส ภู่ผลทาน ได้รับการจดทะเบียนเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2524

thailand-first-patent

โดยคำบรรยายที่แสดงรายละเอียด มีดังนี้ “แบบผลิตภัณฑ์ คือไม้จิ้มฟัน ดังแสดงในภาพแบบผลิตภัณฑ์ ซึ่งมีความยาวประมาณ 6 เซ็นติเมตร มีลักษณะกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 มิลลิเมตร ประมาณครึ่งหนึ่งฝานสองข้างออกเหลือตรงกลางเรียวบางพอเข้าซอกฟันได้พอดี ส่วนที่เหลือไว้เป็นด้ามถือเหมาะมีดังรูป”

สรุป

กฎหมายสิทธิบัตร ในปัจจุบันมีรากฐานมาอย่างยาวนานหลายร้อยปี โดยมีการพัฒนามาเรื่อยๆ ตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป จนกลายมาเป็นกฎหมายสิทธิบัตรที่เราคุ้นเคยกันในปัจจุบัน

หลังจากมีการประกาศใช้กฎหมายสิทธิบัตรฉบับแรกในปี 2522 ก็มีการจดทะเบียน สิทธิบัตรฉบับแรกทั้งสิทธิบัตรการประดิษฐ์และสิทธิบัตรออกแบบตามมาภายในเวลาไม่นาน ทำให้เห็นว่าคนในสมัยนั้นเองก็เห็นความสำคัญของสิทธิบัตรเช่นกัน

ปรึกษาฟรี การจดสิทธิบัตร อนุสิทธิบัตร

ติดต่อเรา
ติดต่อเรา

เพิ่มเติม