ลิขสิทธิ์ คือ ทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่ง (อ่านเพิ่มเติมเรื่อง ทรัพย์สินทางปัญญา) โดยการสร้างสรรค์งานลิขสิทธิ์จะได้รับความคุ้มครองอัตโนมัติโดยไม่จำเป็นต้องมีการจดทะเบียน ซึ่งจะคุ้มครองทุกประเทศภายใต้อนุสัญญากรุงเบิร์น ถ้าเราสามารถพิสูจน์ได้ว่า เราเป็นเจ้าของงานอันมีลิขสิทธิ์นี้จริงๆ

อย่างไรก็ตาม กรมทรัพย์สินทางปัญญามีบริการจดแจ้งงานลิขสิทธิ์ ซึ่งเป็นเพียง “การจดแจ้ง” เท่านั้น ไม่ได้แสดงว่าเราเป็นเจ้าของ เพียงแต่กรมฯได้รับทราบว่าเราได้สร้างสรรค์ขึ้นในวันที่เท่าไหร่ หากมีการพิสูจน์ขึ้นมาก็จะได้มีหลักฐานว่าเราได้สร้างสรรค์งานนี้

ประเภทและตัวอย่างของงาน ลิขสิทธิ์

งานลิขสิทธิ์ที่ทุกคนเรียกติดปากกันนั้น ความจริงแล้วมีการคุ้มครองหลากหลายประเภท ทั้งงานวรรณกรรม นาฏกรรม ดนตรีกรรม แพร่ภาพแพร่เสียง งานศิลปกรรม งานโสตทัศนวัสดุ งานภาพยนต์ เป็นต้น ดังรายละเอียดต่อไปนี้

งานวรรณกรรม

งานวรรณกรรม อันได้แก่งานเขียนต่างๆที่เราเขียนหรือประพันธ์ขึ้น ตัวอย่างเช่น หนังสือ จุลสาร สิ่งพิมพ์ คำปราศรัย รวมถึงโปรแกรมคอมพิวเตอร์

รู้หรือไม่ โปรแกรมคอมพิวเตอร์จัดเป็นงานวรรณกรรมประเภทหนึ่ง ทำให้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ได้รับความคุ้มครองอัตโนมัติโดยไม่ต้องจดทะเบียน

งานนาฏกรรม

งานนาฏกรรม ได้แก่ การออกแบบท่าเต้น ท่ารำรวมถึงการแสดงต่างๆ และละครใบ้ก็จัดเป็นงานนาฏกรรมประเภทหนึ่ง

งานศิลปกรรม

งานศิลปกรรม คืองานภาพเขียน ภาพวาด ภาพพิมพ์ งานปั้น งานสถาปัตยกรรม ภาพถ่าย ภาพประกอบ หรืองานสร้างสรรค์รูปทรงสามมิติ

งานศิลปะประยุกต์ คืองานศิลปกรรมประเภทหนึ่งที่รวมงานในย่อหน้าที่ 1 ไว้มากกว่า 1 ชนิด

งานดนตรีกรรม

งานดนตรีกรรม คืองานออกแบบทำนอง เนื้อร้อง

งานสิ่งบันทึกเสียง

สิ่งบันทึกเสียง ได้แก่เทปหรือซีดีที่มีการบันทึกเสียงไว้ โดยไม่รวมถึงการบันทึกภาพยนต์

งานโสตทัศนวัสดุ

คือสิ่งสำหรับบันทึกเสียงหรือภาพ ที่เราสามารถนำมาเล่นซ้ำโดยใช้อุปกรณ์ที่สามารถอ่านสิ่งงนั้นได้ เช่น ซีดี วีซีดี เป็นต้น

งานภาพยนตร์

ได้แก่ภาพยนตร์ รวมทั้งเสียงประกอบของภาพยนตร์

งานแพร่เสียงแพร่ภาพ

งานแพร่ภาพแพร่เสียง คืองานเผยแพร่และกระจายเสียง เช่น รายการวิทยุ รายการโทรทัศน์ การ Live Streaming เป็นต้น

งานอื่นใดในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ

สิทธิ์ของเจ้าของงาน

1.ทำซ้ำ เจ้าของลิขสิทธิ์สามารถคัดลอก ทำสำเนา ได้ เช่น การถ่ายเอกสาร การ copy save เป็นต้น

2.ดัดแปลง เจ้าของลิขสิทธิ์สามารถดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ของตัวเองได้ เช่น รูปการ์ตูนย์ สามารถออกแบบให้มีท่าทางต่างๆ หรือเปลี่ยนชุดแต่งกายได้ การดัดแปลงบทละคร หรือการนำการ์ตูนย์มาทำเป็นภาพยนต์ เป็นต้น

3.เผยแพร่ต่อสาธารณะ เจ้าของลิขสิทธิ์มีสิทธิ์ที่จะนำงานลิขสิทธิ์ของตนเผยแพร่ต่อสาธารณะได้ เช่น นำมาจัดแสดง การจำหน่าย การเปิดเพลงในที่สาธารณะ เป็นต้น

รู้หรือไม่ การเปิดเพลงฟังส่วนตัวที่บ้านหรือโพสรูปแบบไม่เป็นสาธารณะ ไม่ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์เพราะไม่เป็นการเผยแพร่ต่อสาธารณะ

4.ให้เช่าต้นฉบับ ในงานประเภทโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ภาพยนต์ สิ่งบันทึกเสียง เจ้าของลิขสิทธิ์สามารถหาประโยชน์จากการให้สิทธิ์ผู้อื่นในช่วงเวลาหนึ่งแล้วเก็บเงินได้ เช่น การให้เช่าหนัง เพลง เป็นต้น

5.ให้ประโยชน์แก่ผู้อื่น เจ้าของลิขสิทธิ์มีสิทธิ์ยกประโยชน์อันเกิดจากค่าลิขสิทธิ์ให้กับผู้อื่นได้

6.อนุญาติให้ผู้อื่นใช้สิทธิ์ กรณีเจ้าของไม่ประสงค์หรือไม่สะดวกใช้งานลิขสิทธิ์ของตนเอง เจ้าของสามารถอนุญาติให้ผู้อื่นใช้งานลิขสิทธิ์ของตนได้ โดยอาจได้รับเป็นเงินค่าตอนแทน

ผลงานที่ไม่ถือเป็นงาน ลิขสิทธิ์

1. ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่างๆ ซึ่งเป็นความจริงที่เกิดขึ้น ไม่ใช่งานวรรณกรรมที่เราแต่งขึ้น ดังนั้นทุกคนจึงสามารถใช้ข้อมูลนั้นได้

2. รัฐธรรมนูญ และกฏหมาย

3. ระเบียบ ข้อบังคับที่ประกาศโดยกระทรวง กรม ต่างๆ

4. คำพิพากษา คำวินิจฉัยและรายงานที่ออกโดยราชการ

5. คำแปลและการรวบรวมของเอกสารในข้อ 1-4

ประโยชน์ของลิขสิทธิ์

ประโยชน์แก่เจ้าของ ลิขสิทธิ์

เจ้าของลิขสิทธิ์ในฐานะผู้สร้างสรรค์จะได้สิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวในการ ทำซ้ำ ดัดแปล เผยแพร่ ให้เช่าและขายงานอันมีลิขสิทธิ์ได้ ย่อมก่อให้เกิดรายได้แก่ผู้สร้างสรรค์เป็นรางวัลตอบแทนต่อความมุมานะ พยายามในการคิดและสร้างสรรค์

ประโยชน์แก่สาธารณะ

ก่อให้เกิดแรงจูงใจในการคิดและสร้างสรรค์ เพื่อให้เกิดการคุ้มครองและได้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เพื่อจะได้นำงานลิขสิทธิ์นั้นมาใช้ประโยชน์อันจะก่อให้เกิดรายได้ต่อไป

สรุป

ลิขสิทธิ์ คือ ทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่งที่คุ้มครองการสร้างสรรค์ที่ถูกถ่ายทอดออกมา (express) โดยความคุ้มครองจะเกิดขึ้นทันทีเมื่องานนั้นทุกถ่ายทอดออกมาในลักษณะหนึ่ง เช่น เขียนขึ้น วาดขึ้น เป็นต้น โดยจะคุ้มครองอัตโนมัติในทุกประเทศที่อยู่ภายใต้อนุสัญญากรุงเบิร์น ซึ่งงานลิขสิทธิ์มีด้วยกันหลายประเภท ได้แก่ งานวรรณกรรม นาฏกรรม ดนตรีกรรม ศิลปกรรม สิ่งบันทึกเสียง โสตทัศนวัสดุ ภาพยนต์ งนแพร่เสียงแพร่ภาพ เป็นต้น ซึ่งถ้ามีโอกาสเราสามารถไปจดแจ้งงานลิขสิทธิ์ได้ที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อเป็นหลักฐานแห่งการสร้างสรรค์งานนี้ขึ้นมาได้

เพิ่มเติม

  • ลิขสิทธิ์คืออะไร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คลิก
  • ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ wikipedia คลิก
  • สิทธิ์ของเจ้าของลิขสิทธิ์ กรมทรัพย์สินทางปัญญา คลิก