ลิขสิทธิ์ ซึ่งจัดเป็นทรัพย์สินทางปัญญา ที่ให้ความคุ้มครองงานสร้างสรรค์ที่หลากหลาย อีกทั้งผู้คนยังคุ้นเคยกับคำว่า ลิขสิทธิ์กันเป็นอย่างมาก และรู้หรือไม่ว่า การกระทำบางอย่าง อาจทำให้เรา ละเมิดลิขสิทธิ์ โดยไม่รู้ตัว
วันนี้เราจะยกตัวอย่างเหตุการณ์ และมาหาคำตอบกันว่า การทำแบบนี้ถือว่าผิดลิขสิทธิ์หรือไม่
สารบัญ
ทำคลิปล้อเลียนผิดลิขสิทธิ์ หรือไม่
เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ทางช่อง Pasulol ยูทูปเบอร์ผู้ทำคอนเทนต์แนวล้อเลียน(Parody) ที่มีผลงานเด่นๆ อย่าง นิทานคนบาป หรือ นนทกโดนแกล้ง ได้ประกาศในเพจเฟสบุ๊คของเขาว่า ผลงานคลิปล้อเลียนโดราเอม่อนในยูทูปของเขาถูกแจ้งลบโดยบริษัท ShoPro (shogakukan-Shueisha Productions) ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์โดราเอม่อนโดยตรง ทำให้หลายคนไม่เข้าใจว่า ตกลงคลิปแนวParody นี่ก็ ละเมิดลิขสิทธิ์ ด้วยเหรอ
Fair use หรือการใช้งานลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยชอบ
โดยปกติแล้ว การล้อเลียนหรือพาโรดี้นั้น อยู่ใน หลักการ Fair use (การใช้ลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยชอบ) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายลิขสิทธิ์สหรัฐ ที่อนุญาตให้มีการอ้างถึงหรือนำเนื้อหาที่มีลิขสิทธิ์ไปใช้โดยไม่ต้องขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์ เช่น ใช้ในการวิจารณ์ รายงานข่าว วิจัย หรือล้อเลียน เป็นต้น โดย ไม่ไปขัดกับผลประโยชน์ของเจ้าของผลงานลิขสิทธิ์
แล้วทำไมถึงถูกแจ้งลบล่ะ
แม้การล้อเลียนหรือพาโรดี้จะอยู่ในหลักการ Fair use แต่ถ้าหากทางเจ้าของลิขสิทธิ์ตัดสินว่าอาจขัดผลประโยชน์ของเจ้าของผลงานก็มีสิทธิ์แจ้งทางยูทูปให้ลบได้ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของมุมมองต่อหลักการ Fair use ที่ต่างกันของแต่ละประเทศอีกด้วย ซึ่งทางญี่ปุ่นนั้นขึ้นชื่อเรื่องความเข้มงวดของลิขสิทธิ์อยู่แล้ว
อ่านหนังสือเสียงลงยูทูป ละเมิดลิขสิทธิ์ หรือไม่
การอ่านหนังสือเสียงลงยูทูปได้รับความนิยมในหมู่นักทำคอนเทนต์ในยูทูปหรือยูทูปเบอร์มาพักหนึ่งแล้ว และก็มียูทูปเบอร์หน้าใหม่หลายท่านที่เริ่มหันมาหารายได้จากคอนเทนต์หนังสือเสียง แต่ในยุคที่ผู้คนเริ่มตื่นตัวกับเรื่องลิขสิทธิ์แล้วนั้น หลายคนก็คงมีความกังวลว่าการอ่านหนังสือเสียงลงยูทูปนั้น ละเมิดลิขสิทธิ์ หรือไม่
การอ่านหนังสือเสียงลงยูทูป ” ละเมิดลิขสิทธิ์ ” แน่นอน
การอ่านหนังสือไม่ว่าส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งเล่มลงในยูทูปนั้นผิดลิขสิทธิ์แน่นอน เพราะเข้าข่ายการ ดัดแปลง เผยแพร่สู่สาธารณชนโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ยิ่งถ้าเป็นการทำเพื่อหารายได้ด้วยแล้วยิ่งผิดเข้าไปใหญ่ อาจถูกเจ้าของลิขสิทธิ์ฟ้องเรียกค่าเสียหายเอาได้อีก แทนที่จะได้เงินกลับต้องเสียเงินแถมเสียเวลาขึ้นศาลด้วย ไม่คุ้มสุดๆ
แล้วจะทำอย่างไรให้ไม่ผิดลิขสิทธิ์
ถ้าอยากทำคอนเทนต์อ่านหนังสือเสียงลงยูทูปจริงๆ การเขียนหนังสือเองแล้วนำมาอ่านลงยูทูปเป็นทางเลือกที่เซฟที่สุด เพราะการอ่านหนังสือที่เราเป็นผู้เขียนเองอันนี้จะไม่ถือว่า ละเมิดลิขสิทธิ์ เพราะตัวเราที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์นั้นมีสิทธิ์ที่จะทำซ้ำ ดัดแปลง เผยแพร่ผลงานของตนเองอยู่แล้ว
หรือหากคิดว่าการแต่งเนื้อเรื่องเองอาจเกินกำลังไปสักหน่อย การเลือกทำคอนเทนต์รีวิวหรือวิจารณ์หนังสือเองก็อาจเป็นตัวเลือกที่ดี เพราะตาม พรบ.ลิขสิทธิ์ มาตรา 32 วรรคสอง ได้กล่าวไว้ว่า “การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ ติชม วิจารณ์ หรือแนะนำผลงานโดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์” แต่การทำแบบนั้นก็ต้องระวังไม่ให้การรีวิวเป็นไปในเชิงโจมตีให้ผู้เขียนผลงานเสื่อมเสียชื่อเสียง และควรมีการอ้างอิงผลงานที่นำมารีวิวหรือวิจารณ์เพื่อเป็นการให้เครดิตเจ้าของผลงานด้วย
นอกจากนี้ยังมีทางเลือกอีกทางในการหารายได้จากการอ่านหนังสือเสียงโดยไม่ต้องกลัวว่าจะผิดลิขสิทธิ์หรือไม่ ก็คือการสมัครอ่านหนังสือเสียงตามที่ทางสำนักพิมพ์หรือแพล็ตฟอร์มอ่านหนังสือออนไลน์อย่างเช่น Meb ซึ่งเปิดรับสมัครนักพากย์มาอ่านหนังสือเสียงอยู่เรื่อยๆ นับว่าเป็นทางเลือกที่ดีในการใช้เสียงสร้างรายได้เลยทีเดียว
เปิดเพลงในร้านอาหารอย่างไรไม่ให้ ผิดลิขสิทธิ์
การเปิดเพลงในร้านอาหาร คาเฟ่ ผับ บาร์นั้นถือเป็นการสร้างบรรยากาศที่ดีให้แก่ลูกค้าที่มาใช้บริการ แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีกรณีที่ร้านอาหารถูกบุกจับเพราะเปิดเพลงภายในร้านของตัวเองจนเป็นข่าวโด่งดังกันอยู่พักหนึ่ง เราจึงรวบรวมวิธีการเปิดเพลงอย่างไรให้ถูกวิธี ดังนี้
ขออนุญาตใช้เพลงให้ถูกต้อง
เป็นวิธีที่แนะนำที่สุดในการเปิดเพลงตามร้านอาหาร โดยสามารถติดต่อซื้อเพลย์ลิสต์เพลงที่ชอบได้จากผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ซึ่งเมื่อดำเนินการอย่างถูกต้องตามขั้นตอนแล้วก็สามารถเปิดเพลงในเพลย์ลิสต์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ใช้เพลงที่ศิลปินหรือค่ายเพลงอนุญาตให้ใช้
มีศิลปินหรือค่ายเพลงบางค่ายได้อนุญาตให้ผู้ประกอบการนำเพลงของตนเองไปเปิดในร้านอาหารได้โดยไม่คิดค่าลิขสิทธิ์ ซึ่งก่อนจะเปิดเพลงก็ควรตรวจสอบให้แน่ใจก่อนว่าเพลงในเพลย์ลิสต์นั้นทางศิลปินหรือค่ายเพลงได้อนุญาตให้ใช้ได้หรือไม่
5 เว็บไซต์แจกเพลงฟรี ไม่ละเมิดลิขสิทธิ์
เปิดเพลงเก่ามากๆแทน
ตามพรบ.ลิขสิทธิ์ ได้กำหนดให้อายุของลิขสิทธิ์ของโสตทัศนวัสดุ งานแพร่เสียงแพร่ภาพมีอายุ 50 ปี นับตั้งแต่สร้างสรรค์ หรือถ้ามีการโฆษณาด้วยก็นับจากการโฆษณาครั้งแรก 50 ปี นั่นหมายความว่าหากเราเปิดเพลงเก่าที่มีอายุเกิน 50 ปี อย่างเช่นเพลงแจ๊สเก่าๆ หรือเพลงคลาสสิก ก็จะไม่เข้าข่ายผิดลิขสิทธิ์
ไม่ฟังเสียงดังจนเกิดช่องให้เอาผิด
ในพรบ.ได้ระบุเอาไว้ว่า “การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้โดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 15 (5) ให้ถือว่าเป็นการผิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้กระทำดังต่อไปนี้ (1) ทำซ้ำหรือดัดแปลง (2) เผยแพร่ต่อสาธารณชน” ซึ่งการเปิดเพลงในร้านอาหารอาจเข้าข่ายการเผยแพร่ต่อสาธารณชนได้ แต่หากเปิดแค่เบาๆ หรือเปิดฟังแค่ตัวเจ้าของร้านก็อาจจะไม่ถือว่าเข้าข่ายเผยแพร่ต่อสาธารณชน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องดูเป็นกรณีไปอีก เพราะในอดีตก็มีกรณีที่ศาลยกฟ้องเจ้าของร้านที่เปิดเพลงในร้านของตัวเองเช่นกัน
สรุป
แม้การทำคลิปล้อเลียนจะเข้าข่ายหลักการ Fair use ซึ่งไม่ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ แต่หากเจ้าของลิขสิทธิ์แจ้งลบ เราก็ควรปฏิบัติตาม เพราะเรื่องลิขสิทธิ์นั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เช่นเดียวกับการอ่านหนังสือเสียง ซึ่งจัดเป็นคอนเทนต์ที่เริ่มได้รับความนิยมในหมู่ยูทูปเบอร์ แต่ในการทำคลิปแนวๆ นี้ก็ต้องระวังเรื่องลิขสิทธิ์ด้วย เพราะการนำหนังสือทั้งเล่มมาอ่านลงยูทูปถือว่าผิดลิขสิทธิ์
การเปิดเพลงในร้านอาหารนั้นช่วยสร้างบรรยากาศที่ดีให้แก่ร้านอาหารได้ แต่ก็มีความเสี่ยงที่กลายเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ได้ ดังนั้นผู้ประกอบการจึงควรรู้วิธีการเปิดเพลงอย่างไรให้ไม่ผิดลิขสิทธิ์ เพราะหากเกิดเป็นคดีความขึ้นมาก็อาจสร้างความเสียหายให้แก่ผู้ประกอบการได้
เพิ่มเติม
- รับสมัครนักพากษ์ – MEB
- วิธีเปิดเพลงไม่ให้โดนจับ – ThaiPBS