การยื่นจดสิ่งประดิษฐ์ ในฐานะสิทธิบัตร อนุสิทธิบัตร หรือสิทธิบัตรออกแบบผลิตภัณฑ์ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุก ๆ ปี (ตั้งแต่ปี 2010 จนถึงปี 2020 มีจำนวนสิทธิบัตรที่ยื่นจดเข้ามาประมาณ 140,000 กว่าฉบับ) แต่รู้หรือไม่ว่า สัดส่วนงานประดิษฐ์ที่มี นักประดิษฐ์ ผู้หญิง ร่วมอยู่ด้วยมีไม่ถึง 20% (ประมาณ 17%) แม้ว่าจะเป็นจำนวนที่ยังไม่สูงมาก แต่สัดส่วนสิทธิบัตรที่มีนักประดิษฐ์ผู้หญิงร่วมอยู่ด้วยนั้น เติบโตขึ้นกว่า 80% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา รายละเอียดเป็นอย่างไร ATPSERVE จะอธิบายให้ฟัง
ก่อนอื่นเลย ต้องออกตัวก่อนว่าการค้นหานักประดิษฐ์ “เพศหญิง” ในข้อมูลสิทธิบัตรไทยนั้นไม่ง่าย ดังนั้นการวิเคราะห์นี้จึงไม่สามารถบอกว่าถูกต้อง 100% เพราะว่าผู้ประดิษฐ์หญิงบางท่านมีตำแหน่งทางวิชาการ เช่น ดร. หรือ ศ.ดร. จึงทำให้แยกได้ยากว่า รายชื่อดังกล่าวเป็นเพศอะไร จึงอาจทำให้สิทธิบัตรที่ประดิษฐ์โดยผู้หญิงหรือผู้หญิงมีส่วนร่วมนั้น มีมากกว่าในบทความฉบับนี้เล็กน้อย
สารบัญ
สัดส่วน นักประดิษฐ์ หญิง
หากเรานำจำนวนสิทธิบัตรทั้งหมดที่ยื่นจดทะเบียนเข้ามา คิดเป็น 100% และนับจำนวนสิทธิบัตรที่นักประดิษฐ์หญิงมีส่วนร่วมอยู่ด้วย เราจะได้แผ่นภูมิแสดงสัดส่วนนักประดิษฐ์ผู้หญิง ดังแสดงตามภาพด้านล่าง
เมื่อ 10 ปีที่แล้ว เรามีสัดส่วนงานประดิษฐ์ที่มีนักประดิษฐ์ผู้หญิงประมาณ 14% และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนถึงในปี 2563 ที่ผ่านมา แม้สถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 จะส่งผลกระทบต่อจำนวนการยื่นจดทะเบียนสิทธิบัตรพอสมควร (งานประดิษฐ์ยื่นจดทะเบียนลดลงประมาณ 1 พันฉบับ) แต่จำนวนงานประดิษฐ์ที่ผู้หญิงมีส่วนร่วมในการประดิษฐ์ กลับเพิ่มขึ้นอย่างปกติ โดยมีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 30% ของคำขอสิทธิบัตรที่ยื่นจดทะเบียนเข้ามาในปี 2563
อัตราการยื่นคำขอของ นักประดิษฐ์ หญิง
สอดคล้องกับสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น คืออัตราการยื่นคำขอสิทธิบัตรของงานประดิษฐ์ที่มีผู้หญิงเป็นนักประดิษฐ์ เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วง 10 ปี โดยในรอบ 10 ปี เพิ่มขึ้นถึง 80%
แต่ทั้งนี้แม้ตัวเลขจะดูน่าสนใจ แต่ในถาพรวมยังถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับคำขอสิทธิบัตรทั้งหมดที่ยื่นเข้ามา เพราะสิทธิบัตรในรอบ 10 ปี มีกว่า 140,000 ฉบับ แต่มีคำขอที่มีนักประดิษฐ์เป็นผู้หญิงเพียง 25,000 กว่าคำขอเท่านั้น หรือคิดเป็นเพียง 17% ของคำขอทั้งหมด
ทำไมสิทธิบัตรจากนักประดิษฐ์หญิงถึงน้อย?
แม้การยื่นจดสิทธิบัตร ผู้หญิงล้วนมีสิทธิในการได้รับสิทธิบัตรเทียบเท่ากับผู้ชาย แต่การศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกา โดย Yale University พบว่าผู้ยื่นคำขอเพศหญิงมีโอกาสได้รับการจดสิทธิบัตรน้อยกว่าเพศชาย สอดคล้องกับการศึกษาจากองค์กรสิทธิบัตรโลก (WIPO) บอกว่า ผู้หญิงมักมีแนวคิดทางด้านการค้า (Commercialization) น้อยกว่าเพศชาย (ผมคิดว่า ความคิดในด้านการค้าในที่นี้ หมายถึงการคุ้มครองสิทธิบัตร)
อันที่จริงแล้ว เราอาจต้องไล่มาตั้งแต่พื้นฐานด้านความสนใจในวิทยาศาสตร์ โดยการศึกษาของสถานบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระบุว่านักเรียนชายมีผลการประเมินวิทยาศาสตร์สูงกว่านักเรียนหญิงและมีจุดแข็งด้านวิทยาศาสตร์มากกว่าด้านการอ่านและคณิตศาสตร์ อีกทั้งนักเรียนชายแสดงออกว่ามีความมั่นใจเมื่อเรียนวิทยาศาสตร์มากกว่านักเรียนหญิง
และแน่นอนว่า ไม่ใช่ทุกคนที่มีส่วนในการประดิษฐ์จะได้รับการใส่ชื่อในสิทธิบัตร
ประเภทสิ่งประดิษฐ์ 5 อันดับแรก
อาหารและเครื่องดื่ม คืองานประดิษฐ์ที่เท่าเทียมกัน
เมื่อพิจารณา ประเภทงานประดิษฐ์ 5 อันดับแรก ที่มีนักประดิษฐ์ผู้หญิงจะพบว่า สูงที่สุดเป็นงานเกี่ยวกับอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่ผสมแอลกอฮอร์ ซึ่งเมื่อพิจารณาในกลุ่มดังกล่าว จะพบว่าเกือบ 50% เป็นงานประดิษฐ์ที่ผู้หญิงมีส่วนในการประดิษฐ์
รองลงมาคือ งานเกี่ยวกับเภสัชกรรมและทันตกรรม บรรจุภัณฑ์ เครื่องประดับและเฟอร์นเจอร์ตามลำดับ
บทสรุป
สิ่งประดิษฐ์หรืองานประดิษฐ์ สามารถคุ้มครองได้ด้วยการจดสิทธิบัตร ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีการยื่นจดสิทธิบัตรอย่างต่อเนื่อง และหนึ่งในแรงขับเคลื่อนจำนวนสิทธิบัตรเหล่านั้นที่สำคัญคือนักประดิษฐ์ผู้หญิง ซึ่งมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องกว่า 80% ใน 10 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2563 มีงานประดิษฐ์ที่นักประดิษฐ์ผู้หญิงมีส่วนร่วมอยู่ในสัดส่วนกว่า 30% ซึ่งถึงเป็นนิมิตหมายที่ดีที่เราจะเห็นนักประดิษฐ์ผู้หญิง พัฒนางานประดิษฐ์และนำมาจดสิทธิบัตรมากยิ่งขึ้น
Intellectual property (IP) law is generally recognized as a means to celebrate and reward the contributions of creative individuals by giving them legal exclusivity over their creations for a period of time during which they may determine who may exploit their work – WIPO
เพิ่มเติม
– ข้อมูลสิทธิบัตร กรมทรัพย์สินทางปัญญา