ทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property) คือผลอันเกิดจากการความคิดสร้างสรรค์ทางปัญญาของมนุษย์ จัดเป็นทรัพย์สินที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Asset) อย่างหนึ่ง ซึ่งโดยทั่วไป เรามักจะคุ้นกับคำว่าลิขสิทธิ์ ซึ่งวามจริงแล้ว ลิขสิทธิ์จัดเป็น ทรัพย์สินทางปัญญา รูปแบบหนึ่ง โดยทรัพย์สินทางปัญญาแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลักคือ ทรัพย์สินอุตสาหกรรมและลิขสิทธิ์
ประเภทของทรัพย์สินทางปัญญา
1.ทรัพย์สินอุตสาหกรรม คือทรัพย์สินที่จับต้องไม่ได้ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม ความคิดหรืองานสร้างสรรค์ หรือผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในทางอุตสาหกรรม โดยทรัพย์สินอุตสาหกรรมแบ่งออกเป็น
- สิทธิบัตร (patent)
- เครื่องหมายการค้า (trademark)
- สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (geographical indication)
- ความลับทางการค้า (trade secrets)
- แบบผังภูมิวงจรรวม (Layout – Designs Of Integrated Circuit)
2.ลิขสิทธิ์
ประโยชน์ของทรัพย์สินทางปัญญา
1.เพื่อมอบสิทธิในการเป็นเจ้าของให้กับผู้คิดค้น กล่าวคืองานสร้างสรรค์ถือเป็นสิทธิโดยชอบธรรมของผู้คิดค้น ยกเว้นแต่มีการตกลงไว้เป็นอย่างอื่น เช่น การว่าจ้างหรือการเป็นลูกจ้าง
2.เพื่อเป็นรางวัลตอบแทนในความทุ่มเท สร้างสรรค์ให้กับผู้ประดิษฐ์หรือผู้ออกแบบ
3.เพื่อสร้างให้เกิดวัฒนธรรมในการสร้างสรรค์และประดิษฐ์สิ่งใหม่ เนื่องจากในการสร้างสรรค์ต้องมีการลงทุนและใช้งบประมาณ ดังนั้นรัฐจึงให้ผลตอบแทนกับผู้ที่ลงทุนด้วยสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวในงานสร้างสรรค์ เพื่อจูงใจให้เกิดวัฒนธรรมในการสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง
4.เพื่อจูงใจให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี การจะส่งมอบหรือซื้อขายงานประดิษฐ์นั้น จำเป็นต้องมีหลักฐานที่เป็นสิ่งรับประกันความเป็นเจ้าของงานประดิษฐ์นั้น
ลิขสิทธิ์
ลิขสิทธิ์คืองานสร้างสรรค์อันเกิดจากความรู้ ความสามารถ ความพยายาม โดยถูกถ่ายทอดออกมา (express) ในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง กล่าวคือ งานอันมีลิขสิทธิ์จะได้รับความคุ้มครองก็ต่อเมื่องานนั้นได้ถูกนำออกจากความคิดแล้ว เช่น เขียนลงบนกระดาษ วาดเป็นรูป เป็นต้น (อ่านเรื่องลิขสิทธิ์ เพิ่มเติม)
งานลิขสิทธิ์จัดเป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทเดียว ที่ได้รับความคุ้มครองอัตโนมัติโดยไม่ต้องจดทะเบียน ซึ่งจะคุ้มครองทันทีทุกประเทศภายใต้อนุสัญญากรุงเบิร์น (Berne Convention) เมื่องานนั้นได้ถูกสร้างสรรค์ขึ้น
ตัวอย่างของงานลิขสิทธิ์
- งานวรรณกรรม เช่น งานเขียนหนังสือ สื่อสิ่งพิมพ์ โปรแกรมคอมพิวเตอร์
- งานนาฎกรรม เช่น ท่ารำ ท่าเต้น
- งานศิลปกรรม เช่น งานปั้น งานเขียน ภาพพิมพ์ ภาพถ่ายและศิลปประยุกต์
- งานดนตรีกรรม เช่น การสร้างสรรค์ทำนองและเนื้อร้อง
- งานสิ่งบันทึกเสียง เช่น ซีดี
- งานโสตทัศนวัสดุ เช่น วีซีดี ดีวีดีที่มีภาพหรือมีทั้งภาพและเสียง
- งานภาพยนตร์
- งานแพร่เสียงแพร่ภาพ เช่น รายการวิทยุ รายการโทรทัศน์
- งานอื่นใดในแผนกวรรณคดี วิทยาศาสตร์ หรือศิลปะ
รู้หรือไม่ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ จัดเป็นลิขสิทธิ์ประเภทงานวรรณกรรม ซึ่งคุ้มครองอัตโนมัติทั่วโลกเมื่อมีการสร้างสรรค์
สิทธิบัตร
สิทธิบัตร คือหนังสือสำคัญที่รัฐออกให้เพื่อคุ้มครองงานประดิษฐ์ เช่น องค์ประกอบทางวิศวะกรรม สูตร กรรมวิธีการผลิตหรืองานออกแบบ ให้กับเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว ในระยะเวลาอันจำกัดโดยแลกกับการเปิดเผยสาระสำคัญของงานประดิษฐ์ (อ่านเรื่องสิทธิบัตร เพิ่มเติม)
การคุ้มครองสิทธิบัตร จะคุ้มครองเฉพาะประเทศที่จดทะเบียนเท่านั้นโดยมีระยะเวลาการคุ้มครองที่กำจัด เช่น ในประเทศไทย สิทธิบัตรคุ้มครอง 20 ปี อนุสิทธิบัตรและสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์คุ้มครอง 10ปี
ตัวอย่างงานสิทธิบัตร
- สิทธิบัตรการประดิษฐ์ ให้การคุ้มครองงานประดิษฐ์ที่เป็นองค์ประกอบทางวิศวะกรรม สูตรหรือกรรมวิธีการผลิต ที่มีความใหม่และมีขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น ส่วนใหญ่จะเป็นงานประดิษฐ์ประเภท breakthrough technology เช่น การประดิษฐ์ระไฟความเร็วสูง การประดิษฐ์เครื่องพิมพ์สามมิติ เป็นต้น
- อนุสิทธิบัตร ให้การคุ้มครองงานประดิษฐ์ที่เป็นองค์ประกอบทางวิศวะกรรม สูตรหรือกรรมวิธีการผลิต ที่มีความใหม่ โดยส่วนใหญ่จะคุ้มครองงานประดิษฐ์ที่เป็นการต่อยอดเพียงเล็กน้อย (Incremental Technology)
- สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ ให้กับคุ้มครองการออกแบบรูปทรง ลวดลาย สีสัน เช่น ลวดลายกระเบื้อง ลวดลายบนเสื้อผ้า รูปทรงแก้วน้ำหรือดีไซน์ของขวดโค้ก เป็นต้น
เครื่องหมายการค้า
เครื่องหมายการค้าจัดเป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่งที่ได้รับความนิยม เพราะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อ แบรนด์ กล่าวคือ เครื่องหมายการค้าเป็นสัญลักษณ์เพื่อให้ผู้บริโภคจดจำแบรนด์ของเราได้ โดยเครื่องหมายการค้าหมายถึง ตราสินค้าหรือส่วนหนึ่งของตราสินค้าซึ่งแสดงว่าสินค้านั้นเป็นสิทธิของเจ้าของสินค้านั้น โดยเจ้าของมีสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวในการใช้เครื่องหมายการค้า
ตัวอย่างเครื่องหมายการค้า
- เครื่องหมายการค้า (Trademark) คือเครื่องหมายที่ใช้เพื่อระบุว่าสินค้านั้นเป็นของเจ้าของใด และใช้จำแนกความแตกต่างของสินค้า เช่น เครื่องหมายการค้า Homepro ไทวัสดุ BaanAndBeyond เป็นต้น
- เครื่องหมายบริการ (Service mark) คือเครื่องหมายที่ใช้กับธุรกิจบริการ เพื่อใช้แยกแยะความแตกต่างของหน่วยงานที่ให้บริการ เช่น เครื่องหมายการค้า Thai Airway, AirAsia, NokAir เป็นต้น
- เครื่องหมายรับรอง (Certification mark) คือเครื่องหมายที่เจ้าของให้กับรับรองกับสินค้าหรือบริการของผู้อื่น เพื่อเป็นการรับรองคุณภาพ เช่น เครื่องหมายฮาลาล, ISO เป็นต้น
- เครื่องหมายร่วม (Coleective mark) คือเครื่องหมายที่มีการใช้เป็นกลุ่มธุรกิจ กลุ่มบุคคล เช่น กลุ่มบริษัท SCG, กลุ่มบริษัท PTT เป็นต้น
- เครื่องหมายอื่นๆ เช่น เครื่องหมายกลิ่น เครื่องหมายเสียง เป็นต้น
ความลับทางการค้า
ความลับทางการค้า หมายถึงข้อมูลทางธุรกิจ สูตร กรรมวิธีการผลิต แผนการหรือต้นแบบผลิตภัณฑ์ เป็นต้น โดยความลับทางการค้าในประเทศไทยนั้นไม่มีระบบจดทะเบียน สิ่งที่เป็นความลับทางการค้าจะได้รับความคุ้มครองก็ต่อเมื่อเจ้าของมีการจัดการข้อมูลนั้นในฐานะ ความลับ อย่างชัดเจน เช่น มีการกำหนดจำนวนคนเข้าถึงข้อมูล มีมาตรการการรักษาหรือเก็บข้อมูลไว้เป็นความลับ
ข้อมูลความลับทางการค้าจะได้รับความคุ้มครองก็ต่อเมื่อข้อมูลนั้นเป็นความลับและโดนขโมยไป แต่ข้อมูลความลับนั้นจะสิ้นสุดลงเมื่อมีบุคคลอื่นสามารถกระทำวิศวะกรรมย้อนกลับ (reverse engineer) หรือทำการทดลองแล้วได้ผลลัพธ์เป็นข้อมูลนั้น
ตัวอย่างความลับทางการค้า
- สูตรน้ำดื่มโคคา-โคล่า
- สูตรไก่ทอด KFC
- สูตรเฟรนฟราย Mc Donald
สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์
สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ คือทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่งที่เกิดจากการเชื่อมโยงระหว่าง ธรรมชาติและมนุษย์ กล่าวคือเป็นทรัพย์สินที่มีความจำเพาะต่อแหล่งทางภูมิศาสตร์ ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ที่อื่น โดยสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์เป็นสิทธิของชุมชนไม่จำกัดเฉพาะผู้ใดผู้หนึ่ง ซึ่งคนในชุมชนมีสิทธิในคำกล่าวอ้างในสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์นั้นได้ (อ่านเรื่องสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เพิ่มเติม)
โดยปกติแล้ว สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์จะขึ้นต้นด้วยชนิดของผลิตภัณฑ์และตามด้วยแหล่งที่มา ดังตัวอย่างต่อไปนี้
ตัวอย่างสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์
- ไข่เค็มไชยา
- ทุเรียนนนทบุรี
- ส้มฟลอริดา
แบบผังภูมิวงจรรวม
แบบผังภูมิวงจรรวม จัดเป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่มีคนรู้จักน้อยมาก ซึ่งให้ความคุ้มครองแบบแผนที่แสดงการเชื่อมต่อและจัดวางวงจรไฟฟ้า
ตัวอย่างแบบผังภูมิวงจรรวม
- ตัวนำไฟฟ้า
- ตัวต้านทางทางไฟฟ้า
องค์กรที่เกี่ยวข้องกับ ทรัพย์สินทางปัญญา
1.องค์การทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศ (World Intellectual Property Oganization : WIPO) ทำหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศ (เว็บไซต์ คลิก)
2.กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ (Department of Intellectual Propoerty : DIP) ทำหน้าที่ดูแลและรับจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาภายในประเทศ (เว็บไซต์ คลิก)
3.หน่วยงานทรัพย์สินทางปัญญา ประจำมหาวิทยาลัย (TTO) ทำหน้าที่บริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาภายในหน่วยงาน เช่น หน่วยงานทรัพย์สินทางปัญญาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, หน่วยงานทรัพย์สินทางปัญญามหาวิทยาลัยมหิดล เป็นต้น
สรุป
ทรัพย์สินทางปัญญาจัดเป็นทรัพย์สินประเภทหนึ่งที่จับต้องไม่ได้ มีความสำคัญมากในอุตสาหกรรมปัจจุบัน เพราะเป็นสิ่งที่ลอกเลียนแบบได้ยาก เกิดขึ้นจากการลงทุน ลงงบประมาณ ความเพียรในการคิด สร้างสรรค์ ทดลองและประดิษฐ์ขึ้น โดยทรัพย์สินทางปัญญามีหลายประเภท ได้แก่ ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า ความลับทางการค้า สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์และแบบผังภูมิวงจรรวม
ATPSERVE ให้บริการที่ปรึกษาและคุ้มครองสิทธิบัตร ติดต่อเรา