หากคุณเป็นคนหนึ่งที่มีงานสร้างสรรค์ เช่น งานศิลปะ ดนตรี ภาพยนตร์ หรือเขียนหนังสือ จดลิขสิทธิ์ เป็นสิ่งหนึ่งที่คุณควรทำความเข้าใจ เพื่อที่จะสามารถคุ้มครองและแสดงความเป็นเจ้าของในงานสร้างสรรค์ของคุณได้
ปกติคนทั่วไปมักจะคุ้นเคยคำว่าลิขสิทธิ์กันดีอยู่แล้ว แต่ส่วนใหญ่มักจะเข้าใจกันไม่ถูกต้อง โดยความจริงแล้วลิขสิทธิ์เป็นเพียงแค่ทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่งเท่านั้น
ลิขสิทธิ์ คืออะไร
ลิขสิทธิ์จัดเป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่ง ซึ่งผู้สร้างสรรค์ได้ริเริ่มจากความรู้ สติปัญญา ความสามารถและความพยายามของตนเองโดยไม่ลอกเลียนแบบผู้อื่น
ผมได้เขียนความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ไว้ในบทความก่อนหน้าแล้ว แต่ก่อนอื่น เรามาทำความรู้จักงานอันมีลิขสิทธิ์กันก่อนเบื้องต้น ได้แก่
- วรรณกรรม คืองานจำพวกงานเขียน เช่น หนังสือ วารสาร บทหนัง บทละคร
รู้หรือไม่ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ (source code) จัดเป็นลิขสิทธิ์ประเภทงานวรรณกรรม
- นาฏกรรม คือการออกแบบท่านเต้น ท่ารำ เช่น ถ้าคุณเป็นคนที่คิดค่าเต้นใหม่ๆใน Tiktok คุณก็สามารถจดลิขสิทธิ์ได้นะ
- ศิลปกรรม คือประเภทของงานลิขสิทธิ์ที่ใหญ่มาก เพราะหมายรวมถึงงานวาด งานปั้น งานพิมพ์ งานสถาปัตยกรรม และยังรวมถึงภาพถ่ายและแผนที่อีกด้วย
- ศิลปะประยุกต์ คือ หมวดหมู่หนึ่งในงานศิลปกรรม คืองานสร้างสรรค์ที่รวมงานใดงานหนึ่งในหมวดศิลปกรรมไว้มากกว่า 2 อย่าง
- ดนตรีกรรม ซึ่งหมายรวมถึงทั้งทำนองและคำร้อง
- งานภาพยนตร์และสิ่งบันทึกเสียง ซึ่งหากเราเคยได้ยินว่าพวกปั๊มซีดีเถื่อนขาย ก็ผิดการละเมิดลิขสิทธิ์ในข้อนี้นี่แหละ
- งานอื่นใดในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
จดลิขสิทธิ์ VS จดแจ้งลิขสิทธิ์ ต่างกันอย่างไร?
หลายท่านที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ พออ่านบทความนี้แล้วอาจจะรู้สึกขัดใจอยู่บ้าง เนื่องจากผมใช้คำว่า “จดลิขสิทธิ์” อยู่บ่อยครั้ง เนื่องจากคนทั่วไปมักจะคุ้นชิ้นกับคำนี้ ซึ่งต้องบอกไว้ตั้งแต่ตอนนี้เลยว่าคำนี้เป็นคำที่ไม่ถูกต้องเสียทีเดียว เพราะลิขสิทธิ์ไม่จำเป็นต้องมีการจดทะเบียนเหมือนทรัพย์สินทางปัญญาประเภทอื่นๆ
ลิขสิทธิ์จะได้รับความคุ้มครองอัตโนมัตินับจากวันที่เราได้สร้างสรรค์ขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องจดทะเบียน เพียงแค่เรามีหลักฐานชัดเจน ว่าเราเป็นผู้สร้างสรรค์งานลิขสิทธิ์นี้ขึ้นก็เพียงพอ
อ่าว! แล้วทีนี้เราจะไปจดลิขสิทธิ์กันทำไม? คำตอบก็คือ การจดลิขสิทธิ์ที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา เป็นเพียงแค่การจดแจ้งต่อหน่วยงานราชการเท่านั้น ว่าตนเองเป็นผู้สร้างสรรค์งานที่ตนเองได้นำมาแสดง ซึ่งกรมจะออกหลักฐานให้ว่า ณ วันนี้ เราได้สร้างสรรค์งานนี้ขึ้น แต่กรมฯ ก็มิได้รับรองว่าเราเป็นเจ้าของอยู่ดี ซึ่งหากมีข้อขัดแย้งจำเป็นต้องนำสืบและใช้คำตัดสินของศาลต่อไป เพื่อดูว่าใครกันแน่เป็นเจ้าของที่แท้จริง
หลักเกณฑ์การพิจารณางานลิขสิทธิ์
- งานดังกล่าวต้องเป็นงานที่แสดงออกถึงความคิด (expression of idea)
คำว่า Expression of Idea หมายถึง ความคิดนั้นต้องถูกถ่ายถอด (Express) ออกมาแล้วในลักษณะหนึ่ง เช่น วาดหรือเขียนออกมา ถ้าเป็นแค่ Idea อยู่ในหัว จะไม่ได้รับความคุ้มครอง
- ตนเองต้องเป็นผู้ริเริ่มสร้างสรร (originality) ซึ่งในที่นี้ก็หมายรวมถึงการว่าจ้างผู้อื่นให้สร้างสรรงานอันมีลิขสิทธิ์ด้วยนะครับ
- ต้องเกิดจากการทุ่มเทพลังกาย ความรู้ ความสามารถ ความตั้งใจวิริยะอุตสาหะในการสร้างสรรค์ (sweat & labour and judement )
- เข้าข่ายตามประเภทของงานลิขสิทธิ์ ก็คือ เป็นประเภทใดประเภทหนึ่งข้างต้น ถ้านอกเหนือจากนี้ ต้องไปดูว่าจะเข้าข่ายเป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทไหน
- ไม่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรมอันดีของประชาชน เช่น ก่อให้เกิดอาชญากรรม สงคราม โรคระบาด แบบนี้ไม่ได้รับความคุ้มครองในฐานะงานอันมีลิขสิทธิ์นะครับ
ขั้นตอนการจดแจ้งลิขสิทธิ์
อย่างแรกเลยคือเราต้องกรอกแบบฟอร์ม ลข.01 ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์ของกรมทรัพย์สินทางปัญญา โดยกรอกรายละเอียดดังนี้
- ชื่อเจ้าของสิทธิ์ คือ คนที่เป็นเจ้าของงานนี้ โดยอาจจะเป็น บุคคล บริษัท ราชการ หรือผู้ว่าจ้างก็ได้
- ชื่อตัวแทน กรณีเจ้าของสิทธิไม่สะดวกมายื่นเอกสารเอง สามารถมอบอำนาจให้ตัวแทนดำเนินการได้ โดยระบุข้อมูลตัวแทนในช่องนี้
- สถานที่ติดต่อในประเทศไทย ใช้ระบุเพื่อที่เจ้าหน้าที่จะติดต่อเพื่อสอบถามหรือให้มารับเอกสาร เมื่อการจดแจ้งลิขสิทธิ์ได้รับการอนุมัติ
- ชื่อผู้สร้างสรรค์หรือนามแฝง
- ชื่อผลงาน ข้อนี้ให้ระบุโดยชัดเจนและถูกต้อง เพราะจะปรากฏในเอกสารรับจดแจ้งลิขสิทธิ์
- ประเภทผลงาน ข้อนี้ให้ระบุประเภทของงานลิขสิทธิ์ ตามที่ได้อธิบายข้อต้น และระบุเอกสารหลักฐานงานลิขสิทธิ์นั้น ในหัวข้อ ผลงานที่ยื่นประกอบคำขอ เช่น หนังสือ 1 เล่ม ภาพ 1 ภาพ เป็นต้น
- ความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ บอกว่าเราได้งานอันมีลิขสิทธิ์นี้มาด้วยวิธีใด เช่น ว่าจ้าง สร้างสรรค์เองหรือรับโอนมา เป็น้ตน
- รายละเอียดการสร้างสรรค์ผลงานโดยย่อ/ แรงบันดาลใจ ข้อนี้จะออกแนวพรรณนา โดยให้ทำเป็นเอกสารขึ้นมาหนึ่งฉบับ “แบบแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับการสร้างสรรค์ผลงานโดยย่อ” ให้ระบุวิธีการและขั้นตอนในสร้างสรรค์ผลงานตลอดจนแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์
- สถานที่สร้างสรรค์ และปีที่สร้างสรรค์
- การโฆษณา ให้ระบุ วัน เดือน ปี และประเทศที่มีการโฆษณาครั้งแรก โดยการทำสำเนางานออกจำหน่ายโดยความยินยอมของผู้สร้างสรรค์และสำเนางานมีจำนวนมากพอสมควร กรณียังไม่มีการโฆษณางานให้ระบุโดยทำเครื่องหมายในช่องยังไม่ได้โฆษณา
- การแจ้ง/จดทะเบียนลิขสิทธิ์ในต่างประเทศ
เอกสารประกอบการจดแจ้งลิขสิทธิ์
1. สำเนาบัตรประชาชนพร้อมรับรองสำเนา
2. คำขอแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ แบบ ลข.01
3. ผลงานหรือภาพถ่ายงานลิขสิทธิ์
4. หนังสือรับรองความเป็นเจ้าของงานลิขสิทธิ์
5. แบบแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับการสร้างสรรค์ผลงานโดยย่อ
จดลิขสิทธิ์ที่ไหน
หากคุณอยู่ต่างจังหวัด สามารถจดลิขสิทธิ์ได้ที่ พาณิชย์จังหวัด หรือหากอยู่กทม. นนทบุรี ปทุมธานี สามารถจดทะเบียนได้ที่ชั้น 3 กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ผมเคยเขียนบทความแนะนำกรมทรัพย์สินทางปัญญาเอาไว้ เพื่อทุกท่านจะแวะไปยื่นเอกสาร แถวนั้นมีร้านอร่อยๆ มากมายให้แวะไปลองทาน
อะไรบ้างที่จดลิขสิทธิ์ไม่ได้
เราได้รู้สิ่งที่จดลิขสิทธิ์ได้ หรือจะเรียกให้ถูกคือ ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ ไปแล้ว ต่อไปเป็นตัวอย่างสิ่งที่จดไม่ได้ หรือไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ ได้แก่
1. แนวความคิด หลักการ การค้นพบ ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์ เพราะเราถือว่ามันเป็นสิ่งที่เป็นธรรมชาติ มีอยู่แล้ว เราเป็นแค่เพียงผู้ค้นพบ ไม่ใช่ผู้สร้างสรรค์
2. ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร นั่นคือความจริงที่เกิดขึ้น เรามีสิทธิในการเสนอข่าวสารนั้น แต่สคริปหรือบทวิเคราะห์ข่าง ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์นะครับ
3. รัฐธรรมนูญและกฎหมาย แน่นอนว่าไม่มีใครเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายได้ แม้มันจะมีลักษณะคล้ายงานวรรณกรรมก็ตาม
4. เอกสารของทางราชการหรือหน่วยงานท้องถิ่น เช่น ประกาศกรม หรือแบบพิมพ์ ลข.01 ก็ตาม
5. คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัยและรายงานทางราชการ
6. คำแปลและการรวบรวมข้อมูลในขั้อ 1-5 ที่หน่วยงานของรัฐหรือของท้องถิ่นจัดทำขึ้น
ขั้นตอน กรรมวิธี ระบบ วิธีใช้หรือวิธีทำงาน ไม่จัดเป็นงานลิขสิทธิ์ เพราะว่าจัดเป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทสิทธิบัตร ซึ่งจำเป็นต้องมีการจดทะเบียนเพื่อขอรับความคุ้มครอง
สรุป
ลิขสิทธิ์จะได้รับความคุ้มครองอัตโนมัติ นับจากวันที่สร้างสรรค์ การจดลิขสิทธิ์เป็นสิ่งสำคัญ หากคุณเป็นคนหนึ่งที่มีงานสร้างสรรค์ เช่น งานศิลปะ ดนตรี ภาพยนตร์ หรือเขียนหนังสือ การจดลิขสิทธิ์เป็นสิ่งหนึ่งที่คุณควรทำความเข้าใจ เพื่อที่จะสามารถคุ้มครองและแสดงความเป็นเจ้าของในงานสร้างสรรค์ของคุณได้ โดยเราสามารถจดลิขสิทธิ์ได้ที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา โดยใช้แบบพิมพ์ ลข.01 พร้อมหลักฐานงานลิขสิทธิ์
เพิ่มเติม
- ความรู้เบื้องต้นด้านลิขสิทธิ์ กรมทรัพย์สินทางปัญญา