เชื่อว่าคนส่วนใหญ่น่าจะรู้จักทรัพย์สินทางปัญญากันอยู่แล้ว ซึ่งงานสร้างสรรค์ทุกชิ้นต่างก็มีลิขสิทธิ์คุ้มครองอยู่ ผู้ที่มีสิทธิ์ใช้งานผลงานเหล่านั้นได้ก็คือเจ้าของลิขสิทธิ์เท่านั้น หากผู้อื่นจะใช้งานก็ต้องขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์กันให้เรียบร้อยก่อนจึงจะนำไปใช้ได้ ทำให้เกิดข้อจำกัดในการนำทรัพยากรมาใช้ประโยชน์ร่วมกัน เป็นผลให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า งานสร้างสรรค์เสรี หรือ Creative Commons ขึ้น

สารบัญ

งานสร้างสรรค์เสรี คืออะไร

งานสร้างสรรค์เสรี (Creative Commons : CC) หรือสัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์ เป็นสัญญาอนุญาตรูปแบบเปิดอย่างหนึ่งที่เปิดโอกาสให้สาธารณชนนำผลงานนั้นไปใช้ได้โดยไม่ต้องขออนุญาต และไม่ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ โดยเจ้าของลิขสิทธิ์สามารถให้สิทธิ์บางส่วน หรือทั้งหมดแก่สาธารณะ ในขณะที่ยังคงสงวนสิทธิ์อื่นๆ ที่ตนต้องการเอาไว้ได้

งานสร้างสรรค์เสรี ก่อตั้งขึ้นโดยองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมการขยายขอบเขตสัญญาลิขสิทธิ์ให้สามารถนำผลงานใช้หรือต่อยอดได้โดยมีการจำกัดสิทธิ์แค่บางประการ ปัจจุบันมีประเทศที่ใช้สัญญา Creative Commons อยู่ประมาณ 60 ประเทศ ซึ่งประเทศไทยเองก็ได้เข้าร่วมด้วยเช่นกัน โดยสัญญา Creative Commons ในไทยได้ปรับให้เข้ากับกฎหมายลิขสิทธิ์ของไทย ทำให้เจ้าของผลงานในไทยสามารถใช้สัญญาอนุญาตกับผลงานของตนเอง และได้รับความคุ้มครองตามเงื่อนไขสัญญานั้นๆ ได้

เงื่อนไขใบอนุญาต (License Conditions)

Creative Commons มีเงื่อนไขใบอนุญาตอยู่ 4 รูปแบบ ได้แก่

1.Attribution (BY)

อนุญาตให้นำผลงานไปใช้ได้อย่างอิสระ แต่ต้องให้เครดิตเจ้าของผลงานไว้ด้วย หากต้องการใช้ผลงานแบบไม่ให้เครดิต ต้องติดต่อขออนุญาตเจ้าของผลงานก่อนเท่านั้น

2.ShareAlike (SA)

อนุญาตให้นำผลงานไปใช้ ทำซ้ำ ดัดแปลง แจกจ่ายได้ แต่ผลงานที่ดัดแปลงไปจะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขเดิมเท่านั้น อย่างเช่น งานต้นฉบับอนุญาตให้นำไปใช้ได้แต่ห้ามขาย ผลงานที่เกิดจากการดัดแปลงงานนั้นก็ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขเดียวกันคือ ห้ามขาย เป็นต้น

3.NonCommercial (NC)

สามารถนำผลงานไปทำอะไรต่อก็ได้ ยกเว้นการแสวงหาผลกำไรโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของผลงาน

4.NoDerivatives (ND)

สามารถทำซ้ำ เผยแพร่ต่อได้ แต่ห้ามแก้ไข ดัดแปลงโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของผลงาน

ประเภทของใบอนุญาต (License Types)

จากเงื่อนไขใบอนุญาตทั้ง 4 เงื่อนไข เกิดเป็นใบอนุญาต 6 รูปแบบด้วยกัน ได้แก่

1.Attribution (CC BY)

อนุญาตให้นำผลงานไปใช้ ดัดแปลง ต่อยอดได้ แสวงหาผลกำไรได้ แต่ต้องให้เครดิตเจ้าของผลงานไว้ด้วย

2.Attribution-ShareAlike (CC BY-SA)

อนุญาตให้นำผลงานไปใช้ ดัดแปลง ต่อยอด แสวงหาผลกำไรได้ แต่ต้องให้เครดิตเจ้าของผลงาน และต้องอยู่ภายใต้ใบอนุญาต Creative Commons แบบเดียวกับต้นฉบับเท่านั้น

3.Attribution-NoDerives (CC BY-ND)

อนุญาตให้นำผลงานไปใช้ ต่อยอด แสวงหาผลกำไรได้ แต่ห้ามดัดแปลงโดยเด็ดขาด และต้องให้เครดิตเจ้าของผลงานไว้ด้วย

4.Attribution-NonCommercial (CC BY-NC)

อนุญาตให้นำผลงานไปใช้ ต่อยอด ดัดแปลงได้ แต่ห้ามนำไปแสวงหาผลกำไร และต้องให้เครดิตเจ้าของผลงานด้วย

5.Attribution-NonCommercial-ShareAlike (CC BY-NC-SA)

อนุญาตให้นำผลงานไปใช้ ต่อยอด ดัดแปลงได้ แต่ห้ามนำไปแสวงหาผลกำไร และต้องให้เครดิตเจ้าของผลงานไว้ด้วย โดยผลงานที่เกิดขึ้นมาต้องอยู่ภายใต้ใบอนุญาต Creative Commons แบบเดียวกับต้นฉบับ

6.Attribution-NonCommercial-NoDerives (CC BY-NC-ND)

อนุญาตให้นำไปใช้ได้ เผยแพร่ได้ แต่ไม่สามารถนำไปแก้ไข ดัดแปลง ต่อยอด แสวงหาผลกำไรได้ และต้องให้เครดิตเจ้าของผลงานด้วย ถือเป็นเงื่อนไขที่จำกัดการใช้งานมากที่สุด

สรุป

งานสร้างสรรค์เสรี (Creative Commons) เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อการสร้างสรรค์ผลงานอย่างมาก โดยเป็นทั้งการให้ความคุ้มครองผู้สร้างสรรค์ผลงาน และยังให้ประโยชน์กับคนที่อยากใช้งานผลงานนั้นๆ อีกด้วย แต่อย่างไรก็ดี ผู้สร้างสรรค์ผลงานที่ต้องการให้สัญญา Creative Commons ควรศึกษารูปแบบสัญญาต่างๆ ให้ละเอียด เพื่อจะได้ไม่เสียผลประโยชน์โดยไม่จำเป็น

ATPSERVE บริการรับจดแจ้งลิขสิทธิ์

ติดต่อเรา
ติดต่อเรา

เพิ่มเติม