หากคุณกำลังวางแผนที่จะ คุ้มครองงานประดิษฐ์ นวัตกรรม งานออกแบบ กรรมวิธีหรือสูตรอาหาร เครื่องมือหนึ่งที่สำคัญที่จะช่วยคุณให้สามารถทำเช่นนั้นได้คือการขอจดสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตร
โดยปกติแล้วคนทั่วไปมักจะมีปัญหาในการจัดเตรียมคำขอรับสิทธิบัตร เนื่องจากความยุ่งยากของเอกสาร ทั้งนี้ผมได้เขียนบทความไว้แล้วเรื่อง การเตรียมเอกสารเพื่อขอรับสิทธิบัตร แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหามากกว่าการจัดเตรียมเอกสารคือความซับซ้อนของการร่างคำขอ ซึ่งไม่ง่ายเลยที่คนทั่วไปจะสามารถดำเนินการด้วยตัวเองได้ แต่อย่าเพิ่งกังวลจนเกินไปครับ บทความนี้จะให้แนวทางที่สำคัญสำหรับการยกร่างคำขอ ซึ่งคุณสามารถนำไปทำด้วยตัวเองได้ทันที
องค์ประกอบของร่างคำขอรับสิทธิบัตร
ก่อนอื่นเลย ทุกคนควรจะรู้จักกับ ร่างคำขอ (patent application) เป็นอันดับแรก ร่างคำขอก็คือเอกสารที่เราจะต้องบรรยายความเป็นมา ลักษณะพิเศษของงานประดิษฐ์และสิ่งที่เราต้องการคุ้มครองงานประดิษฐ์ ซึ่งประกอบด้วย หัวข้อดังนี้
- ชื่อการประดิษฐ์
- สาขาวิทยาการที่เกี่ยวข้องกับการประดิษฐ์
- ภูมิหลังของศิลปะหรือวิทยาการที่เกี่ยวข้อง
- ลักษณะและความมุ่งหมายของการประดิษฐ์
- คำอธิบายรูปเขียนโดยย่อ
- การเปิดเผยการประดิษฐ์โดยสมบูรณ์
- วิธีการในการประดิษฐ์ที่ดีที่สุด
- ข้อถือสิทธิ
- บทสรุปการประดิษฐ์
- รูปเขียน (ถ้ามี)
ร่างคำขอรับสิทธิบัตรควรจะต้องจัดเรียงเนื้อหาตามนี้ อย่างไรก็ตาม ในการร่างจริง ๆ แล้ว ผู้เชี่ยวชาญหลายคนก็เริ่มจากการร่างข้อถือสิทธิเป็นอันดับแรก เนื่องจากเป็นหัวข้อที่สำคัญที่สุด ซึ่งแสดงถึงสิ่งที่เราต้องการขอรับความคุ้มครอง
“การร่างข้อถือสิทธิต้องใช้คำที่แสดงถึงชิ้นส่วนงานประดิษฐ์ให้สอดคล้องกับรูปเขียนและเนื้อหาในหัวข้อการเปิดเผยการประดิษฐ์โดยสมบูรณ์ โดยระบุเลขให้สอดคล้องกัน”
คุ้มครองงานประดิษฐ์ – การร่างข้อถือสิทธิ
จากที่เราทราบกันดีว่าข้อถือสิทธิเป็นส่วนที่สำคัญที่สุด ดังนั้นเรามาดูในรายละเอียดเรื่องข้อถือสิทธิเพิ่มเติมกันนิดหน่อย
การเปิดเผยรายละเอียด
อันดับแรกเราต้องเปิดเผยงานประดิษฐ์ออกเป็นสองส่วนคือรายละเอียดงานประดิษฐ์อย่างกว้าง (ข้อถือสิทธิหลัก : Independence Claim) และ รายละเอียดงานประดิษฐ์ที่เฉพาะและเป็นลักษณะทางเลือก (ข้อถือสิทธิรอง : Dependence Claim) ซึ่งสองส่วนนี้สำคัญมากในการวางโครงสร้างของข้อถือสิทธิ เพราะ ข้อถือสิทธิหลักนี้จะบอกขอบเขตที่เราต้องการคุ้มครอง ถ้ากว้างมากไปก็อาจจะไม่ใหม่เพราะไปซ้ำกับงานก่อนหน้าหรือถ้าแคบเกินไปอาจทำให้ได้ความใหม่แต่สิทธิที่ได้ก็จะแคบลงด้วย
ข้อถือสิทธิจะต้องมีการระบุข้อความไว้อย่าง “ชัดแจ้งและรัดกุม ”
โครงสร้างข้อถือสิทธิหลัก
ข้อถือสิทธิหลัก ในสิทธิบัตรนั้นไม่มีการกำหนดจำนวนข้อ แต่สำหรับอนุสิทธิบัตรนั้น กำหนดให้มีได้แค่ 1 ข้อเท่านั้น โดยข้อถือสิทธิจะมีโครงสร้าง ดังนี้
- ส่วน Intro : ซึ่งเราจะต้องบอกลักษณะ องค์ประกอบโดยทั่วไปของงานประดิษฐ์
- ส่วนเนื้อหา : คือส่วนที่เราต้องการขอรับความคุ้มครองตามงานประดิษฐ์นี้
- คำเชื่อม : คือส่วนที่อยู่ระหว่าง Intro และ เนื้อหา
โครงสร้างข้อถือสิทธิรอง
ข้อถือสิทธิรอง คือการบอกลักษณะทางเลือกให้กับงานประดิษฐ์ของเรา โดยต้องมีการอ้างอิงข้อถือสิทธิหลัก หรือข้อถือสิทธิรองข้ออื่นเสมอ โดยจะต้องระบุอ้างอิงในลักษณะที่ความหมายเป็นทางเลือกเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่างานประดิษฐ์ของเราต้องมีลักษณะแบบในข้อถือสิทธิรองข้อนี้เสมอไป
Tips และ Tricks สำหรับการคุ้มครองงานประดิษฐ์
เปิดเผยเท่าที่จำเป็น
ข้อนี้ตรงไปตรงมา คือ เราต้องเปิดเผยเท่าที่จำเป็น แล้วแค่ไหนถึงเรียกว่า “จำเป็น” นั่นคือ ต้องเพียงพอให้เราได้รับความใหม่ แต่ไม่บอกหมดจนคนอื่นสามารถอ่านและลอกเลียนหรือดัดแปลงได้โดยง่าย
เพราะฉะนั้น การสืบค้นสิทธิบัตรจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อที่เราจะได้รู้ก่อนว่างานประดิษฐ์ก่อนหน้าได้เปิดเผยความคุ้มครองไว้แค่ไหน และเราต้องเพิ่มแค่ไหนถึงเพียงพอที่จะได้รับความใหม่
ใช้รูปประกอบการอธิบาย
รูปเขียน ไม่ใช่สิ่งจำเป็นสำหรับคำขอรับสิทธิบัตร นั่นคือเราจะมีหรือไม่มีก็ได้ เพราะผู้ตรวจสอบพิจารณาจากตัวอักษร แต่การมีรูปเขียน จะช่วยให้ผู้ตรวจสอบสามารถเข้าใจงานประดิษฐ์ของเราได้เร็วมากขึ้น และเมื่อผู้ตรวจสอบเข้าใจได้ง่าย ก็จะทำงานได้เร็ว มีข้อสงสัยน้อย งานเราก็จะได้รับจดทะเบียนเร็วขึ้นนั่นเอง
บรรยายงานประดิษฐ์ในลักษณะทางเลือก
หลายท่านเข้าใจว่าการร่างคำขอรับสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรคือการบอกรายละเอียดงานประดิษฐ์อย่างตรงไปตรงมา ซึ่งอาจจะเป็นข้อดีที่ทำให้งานของท่านได้รับจดได้เร็วเพราะโอกาสที่จะทับซ้อนกับงานก่อนหน้าที่น้อย แต่อย่าลืมว่าขอบเขตสิทธิที่ได้ก็จะน้อยตามที่ได้บรรยายไป ยกตัวอย่างเช่น งานประดิษฐ์ของท่านประกอบด้วยชิ้นส่วน A และ B และ C และ D
ถ้ามีผู้ประดิษฐ์คนอื่นประดิษฐ์งานโดยตัดบางชิ้นส่วนออกไป เช่นมีชิ้นส่วน A และ B และ C เท่านั้น แค่นี้สิทธิบัตรของท่านก็ไม่สามารถบังคับสิทธิได้แล้ว
สิ่งที่เหมาะสมและควรทำคือ การบรรยายงานประดิษฐ์เฉพาะชิ้นส่วนที่สำคัญและเป็นพื้นฐานของการทำงาน ส่วนชิ้นส่วนเสริมการทำงานให้บรรยายในลักษณะทางเลือก เช่น งานประดิษฐ์ประกอบด้วยชิ้นส่วน A และ B และ C โดยอาจประกอบเพิ่มด้วยชิ้นส่วน D เป็นต้น
ใช้คำศัพท์ให้กว้าง
คำศัพท์ที่ใช้เรียกชิ้นส่วนในร่างคำขอสิทธิบัตร ไม่จำเป็น ต้องเป็นคำศัพท์ที่ใช้เรียกชิ้นส่วนนั้นเสมอ ยกตัวอย่างเช่น แก้วน้ำ ในสิทธิบัตรเราอาจเรียกว่า ภาชนะรองรับของเหลว เป็นต้น หรือจะให้กว้างกว่านั้นก็ได้
ทั้งนี้ ก็เพื่อทำให้งานประดิษฐ์ของเรากว้างมากขึ้น อีกทั้งยังป้องกันการสืบค้นจากบุคคลภายนอก ให้สามารถหาเจองานประดิษฐ์ของเราได้โดยง่าย เพื่อที่จะลอกเลียนแบบ
“ร่างคำขอสิทธิบัตร ไม่จำเป็นต้องเป็นที่เข้าใจได้ของทุกคน ให้พึงระลึกเสมอว่าใครบ้างที่ควรต้องเข้าใจ และใครบ้างที่ไม่ควรเข้าใจ”
สรุป
เครื่องมือหนึ่งที่สำคัญที่จะช่วยให้สามารถ คุ้มครองงานประดิษฐ์ ได้คือการจดสิทธิบัตร หรืออนุสิทธิบัตร ซึ่งคุณสามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยตัวเอง แต่สิ่งหนึ่งที่พึงระลึกไว้เสมอคือขอบเขตความคุ้มครองงานประดิษฐ์หรือข้อถือสิทธินั่นเอง ซึ่งก่อนการร่างคำขอรับสิทธิบัตรทุกครั้ง คุณควรมีการจัดวางโครงสร้างของข้อถือสิทธิให้ชัดเจน อะไรที่สำคัญควรจัดไว้ในข้อถือสิทธิหลัก อะไรที่เป็นทางเลือกควรใส่ไว้ในข้อถือสิทธิรอง และพยายามเปิดเผยงานประดิษฐ์เท่าที่จำเป็น เพื่อให้งานของเรานั้นได้ความใหม่เพียงพอในขณะที่ปกป้อง core technology ของเราไปด้วย
เพิ่มเติม
- ตัวอย่างการร่างคำขอรับสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตร กรมทรัพย์สินทางปัญญา
- แบบฟอร์มการขอรับสิทธิบัตร กรมทรัพย์สินทางปัญญา
- ข้อถือสิทธิคืออะไร กรมทรัพย์สินทางปัญญา