การจดสิทธิบัตรนั้น ความใหม่ (novelty) เป็นสิ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยงานที่ขาดซึ่งความใหม่ กล่าวโดยย่อๆ คือได้เคยเปิดเผยสาระสำคัญของงานสู่สาธารณะ หรือเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายแล้วในประเทศก่อนวันที่ทำการยื่นจดสิทธิบัตร อาจมีผลทำให้สิทธิบัตรดังกล่าวไม่สามารถได้รับจดทะเบียน หรือโดดคัดค้าน เพิกถอนได้
บทความนี้ ผมจะพูดถึงการพิจารณาความเป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ในสิทธิบัตร ซึ่งอาจเป็นประโยชน์สำหรับหลายๆท่านที่กำลังจะพิจารณาร่างสิทธิบัตรด้วยตัวเอง และเป็นการเพิ่มโอกาสในการรับจดทะเบียนด้วยอีกทาง ทั้งนี้หากใครยังไม่รู้จัก สิทธิบัตร สามารถ ตามอ่านได้ที่บทความ สิทธิบัตร คืออะไร นะครับ
สารบัญ
ทำไม การประดิษฐ์ขึ้นใหม่ ถึงสำคัญกับสิทธิบัตรนัก
สิทธิบัตรเป็น ทรัพย์สินทางปัญญาที่เน้นความใหม่ เป็นสำคัญ เนื่องจากเหตุผล ดังนี้
1. สิทธิบัตร ต้องการให้รางวัลตอบแทนกับผู้ประดิษฐ์ ที่ทุ่มเทแรงกาย สติปัญญา ทรัพยากรต่างๆ ในการคิดค้นและประดิษฐ์ขึ้น โดยมอบให้แก่ผู้ประดิษฐ์ “คนแรก” มีสิทธิในการขอรับสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการที่จะผลิต ขาย นำเข้า หรือเก็บไว้ก็ได้ ซึ่งงานที่ได้จดสิทธิบัตรนั้นในระยะเวลาหนึ่ง ดังนั้นถ้าผู้ประดิษฐ์คนแรกไม่ได้ขอรับสิทธิ์ แถมได้เปิดเผยสาระสำคัญของงานประดิษฐ์สู่สาธารณะแล้ว ย่อมหมายถึงคนอื่นๆ ก็จะนำไปขอรับสิทธิแทนไม่ได้
2. กระตุ้นให้เกิดการพัฒนางานประดิษฐ์อย่างต่อเนื่อง กล่าวคือ ถ้าสิทธิบัตรให้ความคุ้มครองแก่งานประดิษฐ์เดียวกันได้ หรืองานประดิษฐ์ที่มีระดับความใหม่ไม่เพียงพอ คือมีความคล้ายกับงานก่อนหน้าสูงมาก ก็จะทำให้คนต่อๆมา ไม่มีความจำเป็นที่ต้องประดิษฐ์คิดค้น อะไรที่แตกต่างจากเดิมมากนักเพื่อขอรับสิทธิ์ สุดท้ายเราก็จะไม่ได้เห็นโทรศัพท์ของเจ้าใหม่ ที่ดีกว่าอีกเจ้าหนึ่ง หรือรถยนต์รุ่นใหม่ที่ดีกว่ารุ่นในอดีต เป็นต้น
3. ป้องกันการเอาเปรียบรายย่อย ประชาชนหรือการเอาเปรียบสิ่งที่อาจเป็นสาธารณะประโยชน์ กล่าวคือ สิ่งที่แพร่หลายอยู่แล้วในประเทศก่อนวันยื่นจดทะเบียน ถือได้ว่าไม่ใหม่ ซึ่งหากเราอนุญาตให้ใครคนใดคนหนึ่งสามารถขอรับความคุ้มครองสิ่งนั้นได้ ย่อมต้องส่งผลกระทบเป็นวงกว้างอย่างแน่นอน
งานประดิษฐ์แบบไหน ที่ได้เรียกว่า ไม่มีความใหม่
หากคุณมีงานประดิษฐ์ที่ยังไม่จดสิทธิบัตร แล้วพบว่างานของคุณกำลังเข้าข่ายข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้ อยากให้ระมัดระวังหากคุณต้องการที่จะนำงานดังกล่าวไปยื่นสิทธิบัตร หรือทางที่ดีควรจะต้องรีบยื่นจดทะเบียนงานประดิษฐ์ดังกล่าวเสีย เพราะสิ่งที่อาจจะทำให้งานคุณไม่ใหม่ได้ มีดังนี้
(1) งานประดิษฐ์ดังกล่าวเป็นงานที่ใช้อย่างแพร่หลายแล้ว ในราชอาณาจักรก่อนวันยื่นจดทะเบียน
ความแพร่หลาย ในความหมายของสิทธิบัตรคืออะไร? กล่าวโดยย่อให้เข้าใจง่ายๆ คือ งานที่ปรากฏสู่สาธารณะ แล้วทุกคนใช้กันอย่างแพร่หลาย ตามมาตรา 6 วรรคสองนั้น ความแพร่หลายไม่มีข้อยกเว้นใดใดๆ แม้แต่ผู้ประดิษฐ์งานนั้นเอง ถ้าเป็นคนนำการประดิษฐ์ดังกล่าวมาจำหน่ายให้แพร่หลายแล้ว ก็ถือว่าไม่ใหม่ได้เช่นกัน
(2) งานของคุณได้เปิดเผยสาระสำคัญหรือรายละเอียดสู่สาธารณะแล้ว
การเปิดเผยที่กระทบต่อความใหม่ คือการเปิดเผยสาระสำคัญของงานประดิษฐ์ หรือก็คือการเปิดเผยสิ่งที่เราต้องการขอรับความคุ้มครอง เช่น ถ้าเป็นเครื่องจักร ก็คือการเปิดเผยกลไกการทำงาน องค์ประกอบภายใน โดยการเปิดเผยนี้ไม่จำกัดว่าต้องเกิดในช่องทางใดที่เฉพาะเท่านั้น ไม่ว่าการเปิดเผยนั้นจะเป็นเอกสาร สิ่งพิมพ์ การาจัดแสดง หรือแม่แต่การโพสลงยูทูป ก็ถือเป็นการเปิดเผยทั้งสิ้น
(3) การประดิษฐ์ที่ได้รับสิทธิบัตรไว้แล้ว ก่อนวันขอรับสิทธิบัตร
งานที่ได้รับสิทธิบัตรแล้ว หรือประกาศโฆษณาออกมาแล้ว แสดงว่ามีคนอื่นได้ยื่นจดทะเบียนไปก่อนหน้าเราแล้ว เราจึงไม่สามารถขอรับความคุ้มครองได้ เนื่องจากงานของเราไม่ใหม่แล้ว
ทั้งนี้ แม้ว่าคนที่ยื่นก่อนจะไม่ใช่ผู้ประดิษฐ์งานนี้จริงๆก็ตาม ก็ถือได้ว่างานดังกล่าวไม่ใหม่ ดังนั้น เพื่อป้องกันคนอื่นเอาไปจดก่อน เราจึงควรรีบจดสิทธิบัตรงานประดิษฐ์ของเราไว้เองตั้งแต่เนิ่น ๆ จะดีที่สุด
งานประดิษฐ์แบบไหน ที่เปิดเผยแล้วแต่ยังมีความใหม่
หลังจากที่เรารู้กันไปแล้ว สิทธิบัตรแบบไหนที่ไม่ใหม่ เนื่องจากการเปิดเผยในลักษณะต่างๆ ต่อมามาดูกันบ้างว่า แล้วงานประดิษฐ์แบบไหนที่การเปิดเผยสาระสำคัญ ถือว่าไม่ขัดต่อ ความใหม่ ของงานประดิษฐ์
(1) การเปิดเผยที่มิชอบด้วยกฎหมาย
งานประดิษฐ์ ที่ถูกเปิดเผยอย่างผิดกฎหมาย เช่น โดนขโมยออกไปเผนแพร่สู่สาธารณะ หรือการโดนหลอกลวงให้เปิดเผย สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดจากความตั้งใจของผู้ประดิษฐ์ ทำให้ยังคงมีความใหม่ ในการนำไปจดทะเบียนสิทธิบัตรได้
(2) เปิดเผยในงานแสดงสินค้า หรือในงานแสดงของทางราชการ
การเปิดใช้ว่าจะทำให้งานขาด ความ ใหม่เสมอไป ข้อยกเว้นหนึ่งที่สำคัญสำหรับการเปิดเผยสาระสำคัญของงานประดิษฐ์ ที่ยังคงทำให้งานของเรายังใหม่อยู่นั้น ก็คือการเปิดเผยในงานแสดงสินค้าที่ทางราชการเป็นผู้จัด และมีเอกสารรับรองชัดเจน โดยหลักเกณฑ์ที่สำคัญ ที่ทำให้การเปิดเผยมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ได้แก่
– การเปิดเผยดังกล่าว ผู้ประดิษฐ์ต้องเป็นผู้เปิดเผยเอง
– ผู้ประดิษฐ์ต้องยื่นขอรับสิทธิบัตรภายใน 12 เดือน นับแต่วันที่ได้มีการเปิดเผย เพื่อป้องกันผลการพิจารณาว่า งานดังกล่าวไม่ใหม่
(3) การประดิษฐ์ที่ได้ยื่นขอรับสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรไว้แล้ว
สุดท้าย อาจจะฟังดูทับซ้อนกับงานประดิษฐ์ที่ไม่ใหม่ ในหัวข้อข้างต้น แต่กรณีนี้คือ ถ้าเราในฐานะผู้ยื่นคำขอ เปิดเผยงานของตัวเองหลังยื่นจดทะเบียน การเปิดเผยดังกล่าว จะไม่ถือว่าเป็นการเปิดเผยสาระสำคัญของสิทธิบัตรที่ขัดความใหม่ของงานประดิษฐ์เรา ดังนั้น คนอื่นจะเอาหลักฐานการเผยแพร่งานของเรา มาคัดค้านการรับจดสิทธิบัตรของเราเองไม่ได้
เมื่อเป็นดังนั้นแล้ว หลากใครมีแผนจะโฆษณา ประชาสัมพันธ์งานประดิษฐ์ หรือนวัตกรรมของตนเอง สิ่งสำคัญคือยื่นจดก่อน ถ้าจดเข้าไปแล้ว พรุ่งนี้เปิดเผยสาระสำคัญก็ไม่มีผลอะไร
เราจะรู้ได้อย่างไรว่าสิทธิบัตรของเราใหม่หรือเปล่า
หากคุณมีที่ปรึกษาด้านทรัพย์สินทางปัญญา คุณสามารถให้ที่ปรึกษาของคุณช่วยในการตรวจสอบงานประดิษฐ์ของคุณได้ว่า งานดังกล่าวมีความใหม่ หรือไม่ จะได้ไม่เสียเที่ยวในการพัฒนา ศึกษาวิจัยงานประดิษฐ์ขึ้นมา แล้วพบว่างานดังกล่าวไม่ใหม่
หรืออีกวิธีหนึ่ง ในการตรวจสอบว่างานมีการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ คือ การสืบค้นสิทธิบัตร โดยงานประดิษฐ์จะใหม่หรือไม่นั้น ผู้ตรวจสอบจะพิจารณาจากความเหมือนคล้ายในฐานข้อมูลสิทธิบัตรเป็นหลัก ทั้งนี้ในบางครั้งก็มีการสืบค้นในฐานข้อมูลงานวิจัย หรือฐานข้อมูลภายนอก (non-patent) ได้เหมือนกัน แต่หลักๆแล้วจะอยู่ในฐานข้อมูลสิทธิบัตร
การสืบค้นสิทธิบัตรในฐานข้อมูลสิทธิบัตร ขึ้นอยู่กับประเภทของสิทธิบัตรที่ต้องการจดทะเบียนด้วย โดยหากเป็นสิทธิบัตรการประดิษฐ์ เราจะต้องสืบค้นในฐานข้อมูลสิทธิบัตรทั่วโลก แต่ถ้าเป็นอนุสิทธิบัตรเบื้องต้นแค่สืบค้นในฐานข้อมูลสิทธิบัตรไทย ก็เพียงพอ
ตัวอย่างฐานข้อมูลสิทธิบัตร เช่น
นอกจากฐานข้อมูลสิทธิบัตรของแต่ละประเภทแล้ว ยังมีฐานข้อมูลสิทธิบัตร ที่ทำการรวบรวมสิทธิบัตรจากข้อมูลหลายๆฐานมาอยู่ด้วยกัน ทำให้สะดวกต่อการสืบค้น เช่น
สรุป
การประดิษฐ์ขึ้นใหม่ (novelty) เป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อสิทธิบัตร ซึ่งหากได้เคยเปิดเผยสาระสำคัญของงานสู่สาธารณะ หรือเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายอาจมีผลทำให้สิทธิบัตรดังกล่าวไม่สามารถได้รับจดทะเบียนได้ โดยงานที่ถือว่าไม่มีความใหม่ อาทิ งานประดิษฐ์ดังกล่าวเป็นงานที่ใช้อย่างแพร่หลาย, เปิดเผยสาระสำคัญหรือรายละเอียดสู่สาธารณะแล้ว หรือการประดิษฐ์ที่ได้รับสิทธิบัตรไว้แล้ว ซึ่งทำให้งานของเราไม่ใหม่และไม่สามารถจดทะเบียนได้นั่นเอง
เพิ่มเติม
- Legal Requirements for Patentability and typical Parts of a Patent – WIPO
- European Patent Guide – EPO
- กฏหมายเกี่ยวกับสิทธิบัตร – เนติบัณฑิตสภา