หากคุณมีงานประดิษฐ์ สูตร หรือกรรมวิธีการผลิต การจดสิทธิบัตร ถือเป็นวิธีการหนึ่งซึ่งจะช่วยให้เราสามารถคุ้มครองงานประดิษฐ์ หรือความคิดของเราได้ แต่การจะจดสิทธิบัตรด้วยตัวเองนั้นแม้จะเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ยากเกินไปหากได้ทดลอง ซึ่งทุกท่านสามารถจดสิทธิบัตรได้ด้วยตัวเองถ้าได้อ่านบทความนี้

ก่อนอื่นท่านต้องรู้จักก่อนว่าสิทธิบัตร จัดเป็น ทรัพย์สินทางปัญญา ประเภทหนึ่ง ซึ่งคุ้มครองงานประดิษฐ์ เครื่องจักร อุปกรณ์ สูตรและกรรมวิธีการผลิต โดยให้สิทธิแก่ผู้ถือสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการ ผลิต ใช้ ขาย มีไว้เพื่อขาย ซึ่งผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตรนั้น ในระยะเวลาที่กำหนดให้

สารบัญ

การตัดสินใจเลือกรูปแบบการขอรับความคุ้มครอง

เมื่อได้ทำการประดิษฐ์คิดค้นหรือออกแบบผลิตภัณฑ์ขึ้นมา และประสงค์จะขอรับความคุ้มครองอาจจะมีปัญหาว่าควรจะขอรับความคุ้มครองในรูปแบบใดจึงเหมาะสม ทั้งนี้ ผู้ที่ประสงค์จะขอรับความคุ้มครองควรที่จะคำนึงถึงสิ่งต่างๆ ดังต่อไปนี้

1. สิ่งที่คิดค้นขึ้นมานั้นเป็นการประดิษฐ์หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ในกรณีนี้สามารถที่จะพิจารณาได้ง่ายๆ ว่า ถ้าสิ่งนั้นเป็นการคิดค้นที่ก่อให้เกิดลักษณะใหม่ที่มีหน้าที่การทำงาน ประโยชน์ใช้สอยก็สามารถสรุปได้ทันที่ว่าเป็นการประดิษฐ์ แต่ถ้าสิ่งนั้นเป็นการคิดค้นเกี่ยวกับรูปร่าง ลักษณะ หรือลวดลายที่ปรากฏอยู่บนตัวผลิตภัณฑ์ เพื่อให้เกิดความสวยงาม สามารถสรุปได้ว่าเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ซึ่งควรที่จะยื่นขอรับความคุ้มครองสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์

ในกรณีที่เป็นการประดิษฐ์ ก็ต้องสินใจอีกว่าควรที่จะขอรับความคุ้มครอง สิทธิบัตรการประดิษฐ์หรือ อนุสิทธิบัตร ในกรณีนี้ ผู้ขอความคุ้มครองควรที่จะคำนึงถึงต่อไปว่า สิ่งประดิษฐ์นั้นมีเทคนิคที่ซับซ้อนหรือไม่ หากมีเทคนิคที่ซับซ้อนก็ควรที่จะขอรับความคุ้มครองสิทธิบัตรการประดิษฐ์ ทั้งนี้เนื่องจากเงื่อนไขที่ว่า จะต้องเป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ มีขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น และสามารถประยุกต์ใช้ในทางอุตสาหกรรมได้นั่นคือจะต้องดูว่าลักษณะของสิ่งประดิษฐ์ควรที่จะอยู่ภายใต้เงื่อนไขใด

2. องค์ประกอบอื่นๆ เช่น ค่าธรรมเนียมที่ถูกกว่า อายุการคุ้มครอง ขั้นตอนการจดทะเบียนที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน เป็นต้น ซึ่งผู้ขออาจจะนำมาประกอบการพิจารณาเลือกว่าจะยื่นคำขอแบบใด

เอกสารสำหรับ การจดสิทธิบัตร อนุสิทธิบัตร และสิทธิบัตรออกแบบผลิตภัณฑ์

สิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรจะคุ้มครองงานประดิษฐ์ที่เป็นฟังก์ชั่น องค์ประกอบทางวิศวกรรม กระบวนการผลิตหรือสูตร สำหรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์จะคุ้มครองงานออกแบบ รูปทรง ลวดลายหรือสีสัน เช่น ลวดลายผ้า รูปทรงขวดน้ำ เป็นต้น โดย การจดสิทธิบัตร สามารถแยกเป็น 2 กรณีได้ ดังนี้

Note : สามารถดูตัวอย่างแบบฟอร์มการจดสิทธิบัตร ได้ที่หัวข้อตัวอย่างการกรอกเอกสาร

1.กรณีเจ้าของสิทธิ์กับผู้ประดิษฐ์เป็นคนเดียวกัน

  • ร่างคำขอ หมายถึง รายละเอียดการประดิษฐ์ซึ่งอธิบายว่ารายละเอียดการประดิษฐ์เราคืออะไร ประกอบด้วยอะไรบ้าง มีรูปเขียนอย่างไร และต้องการขอคุ้มครองอะไร
  • แบบพิมพ์คำขอ คือแบบฟอร์มสำหรับขอรับสิทธิบัตร โดยต้องระบุรายละเอียดประเภทของสิทธิบัตร รายชื่อผู้ประดิษฐ์ รายชื่อผู้ขอถือสิทธิ์
  • คำรับรองเกี่ยวกับสิทธิ์ คือแบบฟอร์มสำหรับรับของว่าเราเป็นผู้ประดิษฐ์งานนี้ขึ้นมาจริงๆ
  • สำเนาบัตรประชาชนผู้ประดิษฐ์

2.กรณีเจ้าของสิทธิ์เป็นนิติบุคคล

  • ร่างคำขอ เช่นเดียวกับกรณีผู้ประดิษฐ์เป็นเจ้าของสิทธิ์ โดยประกอบด้วยรายละเอียดการประดิษฐ์และรูปเขียน
  • แบบพิมพ์คำขอ เช่นเดียวกับกรณีผู้ประดิษฐ์เป็นเจ้าของสิทธิ์แต่เปลี่ยนผู้ถือสิทธิจากบุคคลเป็นนิติบุคคล
  • หนังสือสัญญาโอนสิทธิการประดิษฐ์ คือ สัญญาที่ระบุรายละเอียดการโอนสิทธิ์งานประดิษฐ์จากผู้ประดิษฐ์ให้กับบริษัท หรือเป็นสัญญาจ้างผลิตก็ได้เหมือนกัน
  • สำเนาบัตรประชาชนผู้ประดิษฐ์
  • สำเนาบัตรประชาชนกรรมการบริษัทฯ
  • หนังสือรับรองบริษัทฯ

สรุปรายละเอียดเอกสารของผู้ถือสิทธิ

การจดสิทธิบัตร

ขั้นตอนการยื่นจดทะเบียน

  1. เตรียมร่างคำขอรับสิทธิบัตร
  2. เตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้อง (แบบพิมพ์คือขอ คำรับรองเกี่ยวกับสิทธิ(ถ้ามี) สำเนาบัตรประชาชน เป็นต้น)
  3. ยื่นคำขอรับสิทธิบัตร ได้ที่ ชั้น 3 กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ถนนสนามบินน้ำ จังหวัดนนทบุรี
  4. ชำระค่าธรรมเนียมการยื่นจดทะเบียน
  5. เสร็จเรียบร้อย กลับบ้านได้

ตัวอย่างการกรอกเอกสาร

1.ร่างคำขอ

1.1 ร่างคำขอสำหรับ การจดสิทธิบัตร จดอนุสิทธิบัตร

ร่างคำขอสำหรับการจดสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตรนั้น จะต้องใช้การเขียนพรรณางานประดิษฐ์ รวมถึงสิ่งที่เราต้องการขอรับความคุ้มครอง ดังนั้นขอบเขตหรือความกว้างของสิ่งที่เราจะได้ขึ้นอยู่กับการเขียนของเรา โดยร่างคำขอสำหรับสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร จะประกอบไปด้วย

  • ชื่อที่แสดงถึงการประดิษฐ์ เป็นชื่องานประดิษฐ์ของเรา การเขียนชื่อการประดิษฐ์ห้ามเขียนแบบเว่อร์เกินจริงเช่น รองเท้ามหัศจรรย์ อันนี้ไม่ได้ แนะนำให้พยายามเขียนให้สั้น กระชับและกว้างๆ เพื่อป้องกันคนค้นหาของเราเจอ เช่น งานประดิษฐ์รองเท้า อาจใช้ชื่อว่า รองเท้า หรือ อุปกรณ์สวมใส่ หรือ อุปกรณ์รองรับเท้า เป็นต้น
  • สาขาวิทยาการที่เกี่ยวข้องกับการประดิษฐ์ อันนี้แนะนำให้เขียนตามนี้เลย ถ้าเป็นงานวิศวกรรม ให้เขียนว่า “วิศวกรรมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ “ชื่อการประดิษฐ์” ” แต่ถ้าเป็นงานสูตร งานเคมี ให้เขียนว่า “เคมีในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ “ชื่อการประดิษฐ์” ” เช่น วิศวกรรมที่เกี่ยวข้องกับรองเท้า เป็นต้น
การจดสิทธิบัตร-1
    • ภูมิหลังของศิลปะหรือวิทยาการที่เกี่ยวข้อง สำหรับหัวข้อนี้เป็นการอธิบายงานประดิษฐ์ที่มีอยู่ก่อนหน้า ต้องบรรยายให้มากหน่อยยิ่งมากยิ่งตัวอย่างเยอะยิ่งดี เพราะจะทำให้ผู้ตรวจสอบเห็นว่างานของเราแตกต่างจากงานประดิษฐ์ก่อนหน้าอย่างไร โดยอธิบายงานก่อนหน้าและตามด้วยความแตกต่างจากงานของเรา ถ้าจะให้ดีมากขึ้นให้ใส่งานประดิษฐ์ที่เป็นสิทธิบัตรก่อนหน้าลงไปด้วย โดยสามารถสืบค้นได้ในฐานข้อมูลสิทธิบัตรกรมทรัพย์สินทางปัญญา
  • ลักษณะและความมุ่งหมายของการประดิษฐ์ เป็นการบอกรายละเอียดคร่าวๆ ของงานประดิษฐ์และประโยชน์ของงานเรา โดยการเขียนให้มีความยาวประมาณครึ่งหน้ากระดาษ A4 แบ่งเป็น 2 ย่อหน้า ย่อหน้าแรกให้บรรยายงานของเรา และย่อหน้าสองให้บรรยายประโยชน์ของงานของเรา
การจดสิทธิบัตร-2
  • คำอธิบายรูปเขียนโดยย่อ เป็นชื่อของรูปเขียน ที่เรามี เช่น ถ้าเรามี 3 รูป เราก็มี 3 บรรทัด โดยเริ่มจากบรรทัดที่ 1 เขียนว่า รูปที่ 1 แสดง “ชื่อรูป”
  • การเปิดเผยการประดิษฐ์โดยสมบูรณ์ หัวข้อนี้สำคัญมาก โดยเป็นการบรรยายลักษณะของงานประดิษฐ์ของเรา ให้อธิบายโดยละเอียด โดยอธิบายถึงการเชื่อมโยงของส่วนประกอบต่างๆ ขั้นตอนการผลิต หรือองค์ประกอบ โดยการอธิบายต้องอ้างอิงรูปเขียนด้วย และให้ใส่ตัวเลขที่ชี้ไปยังส่วนประกอบนั้นๆ ที่เราเขียนไว้ในรูปเขียน
การจดสิทธิบัตร-3
  • วิธีการในการประดิษฐ์ที่ดีที่สุด ตรงนี้ให้เขียนไปเลยว่า “ดังที่เปิดเผยไว้แล้วในหัวข้อการเปิดเผยการประดิษฐ์โดยสมบูรณ์”
  • ข้อถือสิทธิ

หัวข้อนี้สำคัญที่สุด เพราะเป็นการระบุสิ่งที่เราต้องการขอรับความคุ้มครอง ผมได้เคยเขียนบทความเอาไว้เรื่องเทคนิคการร่างข้อถือสิทธิ โดยข้อถือสิทธิ มี 2 ประเภทคือ ข้อถือสิทธิหลัก และข้อถือสิทธิรอง

1.1.1 ข้อถือสิทธิหลัก 

เป็นการบรรยายสิ่งที่เราต้องการขอรับความคุ้มครอง โดยจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ รายละเอียดทั่วไป และ สิ่งที่ต้องการขอรับความคุ้มครอง

ส่วนที่ขอรับความคุ้มครองต้องมีความใหม่ ไม่เหมือนงานก่อนหน้าและให้เขียนเฉพาะสิ่งที่จำเป็นมากที่สุดที่ต้องมีในงานของเรา

โดยเชื่อมตรงกลางระหว่างสองส่วนด้วยคำว่า “ลักษณะพิเศษคือ” ดังตัวอย่าง

รู้หรือไม่ ข้อถือสิทธิหลักนี้ จะต่างกันโดย อนุสิทธิบัตรมีจ้อถือสิทธิหลักได้ 1 ข้อ ส่วนสิทธิบัตรการประดิษฐ์จะมีกี่ข้อก็ได้

ข้อถือสิทธิ
1.1.2. ข้อถือสิทธิรอง 

เป็นการขยายความข้อถือสิทธิหลัก กล่าวคือ สิ่งที่เป็นทางเลือก จะมีหรือไม่มีก็ได้ ในงานประดิษฐ์เรา ให้นำมาไว้ในข้อถือสิทธิรอง และเขียนเชื่อมโยงไปที่ข้อถือสิทธิหลัก โดยมีโครงสร้างดังนี้

ชื่อการประดิษฐ์” ตามข้อถือสิทธิ “เลขข้อถือสิทธิที่อ้างอิง” ที่ซึ่ง “รายละเอียด” เช่น

2. เครื่องสับเปลือกมะพร้าว ตามข้อถือสิทธิ 1 ที่ซึ่ง เพลงลูกกลิ้งบน (7) จัดให้มีลักษณะเป็นวงกลม

  • บทสรุปการประดิษฐ์ เป็นการสรุปการประดิษฐ์ของเรา โดยง่ายที่สุดก็คือเอารายละเอียดในหัวข้อ ลักษณะและความมุ่งหมายของการประดิษฐ์ มาใส่ โดยรวม 2 ย้อหน้าให้เหลือ 1 ย่อหน้า
  • รูปเขียน เป็นรูปเขียนเพื่อประกอบการอธิบาย จะมีหรือไม่มีก็ได้ ซึ่งมีก็ไม่ได้จำกัดรูปลักษณ์ของงานของเรา โดยรูปเขียน ต้องเป็นเส้นดำบนพื้นขาวเท่านั้น ห้ามเป็นรูปถ่าย ห้ามมีสี และห้ามมีตัวอักษรใดๆ ยกเว้น เลขที่รูป ดังตัวอย่าง
ภาพเขียนสิทธิบัตร

ระวัง!! หัวข้อในร่างคำขอต้องถูกต้องตามตัวอักษรในตัวอย่างทุกคำ ห้ามตัดห้ามเกินเด็ดขาด

 

(ตัวอย่างร่างคำขอรับสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตรเครื่องสับเปลือกมะพร้าว)

1.2 ร่างคำขอสำหรับ การจดสิทธิบัตร ออกแบบผลิตภัณฑ์

  • ข้อถือสิทธิ

ข้อถือสิทธิ สำหรับการจดสิทธิบัตรออกแบบนั้นง่ายมาก โดยให้เราระบุว่า

ขอถือสิทธิในแบบผลิตภัณฑ์ ซึ่งได้แก่ รูปร่าง ลักษณะและลวดลายของ “ชื่อการประดิษฐ์” ดังมีรายละเอียดตามที่ปรากฏในภาพแสดงแบบผลิตภัณฑ์ที่ได้ยื่นมาพร้อมกันนี้

  • รูปเขียน/ รูปถ่าย(ขาวดำ)

การจดสิทธิบัตร ออกแบบผลิตภัณฑ์ เราจะใช้รูปเขียน หรือเป็นรูปถ่ายขาวดำก็ได้ โดยปกติ จะถ่าย 7 รูป คือด้าน บน ล่าง ซาย ขวา หน้าตรง หลังตรง และมุม perspective (ถ่ายเฉียงลงมา) ดังแสดงตามตัวอย่างด้านล่างงนี้

(ตัวอย่างร่างคำขอรับสิทธิบัตรออกแบบผลิตภัณฑ์ รองเท้า)

ข้อกำหนดแบบร่างคำขอ

ในการร่างคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์และอนุสิทธิบัตร กฎหมายมีข้อกำหนดในการจัดเตรียมเอกสารในเบื้องต้น ดังนี้

  • ใช้กระดาษสีขาวเรียบไม่มีเส้น ขนาด A4 โดยใช้หน้าเดียว ตามแนวตั้ง เว้นแต่รูปเขียนอาจใช้แนวนอนได้
  • ระบุหมายเลขหน้า และจำนวนหน้าทั้งหมดไว้กลางหน้ากระดาษด้านบนของทุกหน้า ตามลำดับ
  • มีหมายเลขกำกับไว้ด้านซ้าย ทุกๆ 5 บรรทัดตามลำดับข้อความในรายละเอียด การประดิษฐ์ ข้อถือสิทธิ และบทสรุปการประดิษฐ์
  • ใช้หน่วยการวัดปริมาณ ตามหลักสากล
  • ใช้ศัพท์เฉพาะ เครื่องหมาย และสัญลักษณ์ที่ใช้กันทั่วไปในศิลปะหรือวิทยาการนั้นๆ
  • ไม่ขูดลบ เปลี่ยนแปลง หรือมีคำหรือข้อความใดๆ ระหว่างบรรทัด

2.แบบพิมพ์คำขอ

แบบพิมพ์คำขอ เป็นแบบพิมพ์หลักที่ใช้ยื่นจดทะเบียน โดยการกรอกไม่มีอะไรยากเลย ให้กรอกหัวข้อสำคัญดังนี้

หัวกระดาษให้เลือกประเภทของสิทธิบัตรที่เราต้องการจะจด

แบบพิมพ์คำขอ-1

ในรายละเอียด ให้กรอกข้อ 1, 3, 4, และ 6 โดยกรอกชื่อการประดิษฐ์ ชื่อที่อยู่ผู้ขอรับสิทธิ์ ชื่อและที่อยู่ผู้ประดิษฐ์ตามหัวข้อที่เค้ามีได้เลย ส่วนข้อ 4 กรณีเป็นผู้ประดิษฐ์ให้เลือกช่องแรก แต่ถ้าเป็นบริษัท ให้เลือก “ผู้รับโอน” ครับ

แบบพิมพ์คำขอ-2

(1) ชื่อที่แสดงถึงการประดิษฐ์

ระบุชื่อที่แสดงถึงลักษณะทางเทคนิคของการประดิษฐ์ให้ชัดเจน ต้องไม่เป็นชื่อเฉพาะของบุคคล หรือชื่อที่ตั้งขึ้นเองหรือชื่อที่เป็นการอวดอ้างสรรพคุณ และต้องให้ตรงกันกับชื่อที่แสดงถึงการประดิษฐ์ ที่ระบุไว้ในรายละเอียดการประดิษฐ์

(3) ชื่อ-ที่อยู่ของผู้ขอรับสิทธิบัตร รวมทั้งสัญชาติของผู้ขอรับสิทธิบัตร

ระบุชื่อ ที่อยู่ของผู้ขอรับสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตรที่สามารถติดต่อได้ เพื่อรับหนังสือแจ้งคำสั่ง จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา โดยไม่จำเป็นต้องเป็นที่อยู่ที่ระบุไว้ในบัตรประจำตัวประชาชน พร้อมระบุประเภทบุคคล (ตัวอย่างเช่น ☒ บุคคลธรรมดา , ☐ นิติบุคคล ,☐ หน่วยงานรัฐ , ☐ มูลนิธิ , ☐ อื่น ๆ)

(4) สิทธิในการขอรับสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร

ระบุประเภทของสิทธิในการขอรับสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร (ตัวอย่างเช่น ☒ ผู้ประดิษฐ์ /ผู้ออกแบบ , ☐ ผู้รับโอน , ☐ ผู้ขอรับสิทธิโดยเหตุอื่น)

ใช้เมื่อประสงค์จะขอรับความคุ้มครองสำหรับการประดิษฐ์ที่คิดค้นขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสิทธิบัตรหรือ อนุสิทธิบัตร โดยใช้สำหรับคำขอที่ไม่ใช่การยื่นตามสนธิสัญญาความร่วมมือด้านสิทธิบัตร

(ไม่ผ่านระบบ PCTPCT) เอกสารประกอบจะมีความแตกต่างกันไปตามลักษณะต่าง ๆ ของคำขอ เช่น ประเภทของ ผู้ขอรับสิทธิบัตร สิทธิของผู้ขอในการขอรับสิทธิบัตร ข้อมูลการออกแสดงงานของ การประดิษฐ์

(5) ตัวแทน

ระบุชื่อและที่อยู่ของตัวแทนสิทธิบัตร ในกรณีที่ผู้ขอรับสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตรมอบอำนาจ ให้แก่ตัวแทนสิทธิบัตรเป็นผู้กระทำการแทน โดยจะต้องเป็นตัวแทนที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมทรัพย์สิน ทางปัญญาเท่านั้น ไม่ใช่ผู้รับมอบอำนาจโดยทั่วไป

(6) ผู้ประดิษฐ์

ระบุชื่อและที่อยู่ของผู้ประดิษฐ์ที่คิดสร้างสรรค์ประดิษฐ์ผลงานขึ้น โดยผู้ประดิษฐ์ต้องเป็นบุคคลธรรมดาเท่านั้น

ในหน้าที่ 2 ให้กรอกข้อ 13, 14, 15 และ ลงลายมือชื่อ ข้อ 16 เป็นอันเสร็จการกรอกแบบฟอร์ม ในข้อ 13 ให้เรากรอกจำนวนหน้าตามที่เรามีในเอกสารร่างคำขอ ส่วนข้อ 14 ให้เลือกตามตัวอย่างได้เลย

แบบพิมพ์คำขอ-3

(13) คำขอรับสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตรนี้ประกอบด้วย

ระบุจำนวนหน้าในแต่ละส่วนของคำขอรับสิทธิบัตรให้ตรงกับจำนวนหน้าของเอกสารที่ได้ยื่นไว้

(14) เอกสารประกอบคำขอ

ผู้ขอรับสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตรจะต้องทำเครื่องหมายลงใน ☒ ให้ครบถ้วนสมบูรณ์ ตามที่ได้ยื่นเอกสารไว้กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา

(15) การรับรองการประดิษฐ์หรือการพัฒนาปรับปรุงการประดิษฐ์

ผู้ขอรับสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตรต้องรับรองการยื่นขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์/อนุสิทธิบัตร ว่าการประดิษฐ์นี้เป็นการประดิษฐ์ที่ไม่เคยยื่นขอรับสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตรมาก่อน หรือพัฒนาปรับปรุงมาจากเลขที่คำขอรับสิทธิบัตรใด

(16) ลายมือชื่อผู้ขอ

ผู้ขอรับสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตรต้องลงลายมือชื่อจริงไว้ พร้อมวงเล็บชื่อ-สกุลกำกับภายใต้ลายมือชื่อจริง แต่กรณีที่มีการแต่งตั้งตัวแทน ตัวแทนจะสามารถลงลายมือชื่อแทนผู้ขอรับสิทธิบัตร/ อนุสิทธิบัตรได้ ซึ่งตัวแทนจะต้องเป็นตัวแทนที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมทรัพย์สินทางปัญญาเท่านั้น

(ดาวน์โหลดแบบฟอร์ม สป/สผ/อสป/001-ก)

3.คำรับรองเกี่ยวกับสิทธิ (กรณีเจ้าของสิทธิ์กับผู้ประดิษฐ์เป็นคนเดียวกัน)

กรณีผู้ประดิษฐ์กับเจ้าของสิทธิ์เป็นบุคคลคนเดียวกัน เราต้องมีเอกสารเพื่อยืนยันว่าเราเป็นผู้ประดิษฐ์งานนี้จริงๆ และนั่นก็คือแบบ 001ก(พ) โดยกรอกข้อมูลตามหัวข้อในนั้นได้เลย สามารถดาวน์โหลดเอกสารได้ที่ลิงค์ด้านล่าง

(ดาวน์โหลดแบบฟอร์ม สป/สผ/อสป/001-ก(พ))

 

ส่วนที่1 ให้ระบุสถานที่และวันที่ที่จัดทำคำรับรอง โดยวันที่ที่จัดทำคำรับรองควรเป็นวันก่อนหน้าหรือวันที่มายื่นคำขอรับสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร

ส่วนที่2 ให้ระบุชื่อบุคคลซึ่งเป็นผู้ประดิษฐ์และมีความประสงค์ที่จะเป็นผู้ขอรับสิทธิบัตร/ อนุสิทธิบัตรด้วย โดยต้องกรอกข้อมูลให้ครบทุกคน ซึ่งหากมีจำนวนมากกว่า 3 คน สามารถกรอกข้อมูลเพิ่มในใบต่อแนบท้าย (แบบ สป/สผ/อสป/012-ก) พร้อมกับทำเครื่องหมายไว้ที่ช่อง ☒ เพิ่มเติม (ดังแนบ)

ส่วนที่3 ให้ระบุชื่อการประดิษฐ์ ซึ่งเป็นชื่อที่เหมือนกันกับที่ระบุในแบบพิมพ์คำขอรับสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตรและรายละเอียดการประดิษฐ์

ส่วนที่4 ให้ลงลายมือชื่อจริงของบุคคลที่เป็นผู้ประดิษฐ์ตามรายชื่อในส่วนที่ 2 ให้ครบทุกคน

4.หนังสือโอนสิทธิ์ (กรณีเจ้าของสิทธิ์เป็นนิติบุคคล)

หนังสือโอนสิทธิ์ เป็นสัญญาซึ่งเราสามารถให้ทนายความหรือ เราจะล่างขึ้นมาเองก็ได้ ก็จะมีใจความสำคัญประมาณ 3 ย่อหน้า คือ 1.ชื่อ ที่อยู่ผู้โอน(ผู้ประดิษฐ์) 2.ชื่อ ที่อยู่ผู้รับโอน และ 3.ชื่องานประดิษฐ์ที่จะทำการโอน พร้อมลงลายมือชื่อ ผู้โอน ผู้รับโอน และพยาน

กรณีเป็นสัญญาจ้างงาน ที่มีการระบุว่าสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาเป็นของใคร ก็สามารถใช้หนังสือจ้างงานนั้นได้

สรุป

จดสิทธิบัตร ด้วยตัวเองไม่ยากเลยใช่ไหมครับ เพียงแค่เราเตรียมเอกสารให้ถูกต้องก็สามารถทำได้ โดยเอกสารสำคัญประกอบด้วย ร่างคำขอสิทธิบัตร แบบพิมพ์คำขอ คำรับรองเกี่ยวกับสิทธิ(ถ้ามี) และสำเนาบัตรประชาชน ไปยื่นที่ ชั้น 3 กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ นนทบุรี และที่สำคัญให้คิดไว้เสมอว่า ในการร่างสิทธิบัตรทั้งหมด ข้อถือสิทธิ คือหัวใจสำคัญที่จะบอกว่างานเราต้องการความคุ้มครองอะไรบ้าง

ทั้งนี้หากท่านต้องการความรวดเร็วและความถูกต้อง ครอบคลุมของร่างคำขอ พร้อมบริการแบบมืออาชีพ ที่ ATPSERVE เรามีบริการจดสิทธิบัตรด้วยผู้เชี่ยวชาญ พร้อมให้คำปรึกษาและดูแลตลอดกระบวนการจนท่านได้รับสิทธิบัตร

ปรึกษาฟรี การจดสิทธิบัตร กับผู้เชี่ยวชาญ

ติดต่อเรา
ติดต่อเรา

เพิ่มเติม